นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ซึ่งเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ผังภูมิสังคมเป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและสังคมวิทยา จัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้คือหลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปแนะนำ อธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดว่าต้องการอะไรจริง ๆ และเขียนบันทึกลงในผังภูมิสังคมฯ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดโครงการและกิจกรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้กับประชาชน เป็นการพัฒนาเครือข่ายการทำงานแบบบูรณาการของผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน และภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืน เนื่องจากเป็นโครงการและกิจกรรมที่ตนมีส่วนร่วม และได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
ทั้งนี้ ใน ปี พ.ศ. 2567 กรมโยธาธิการและผังเมือง มีเป้าหมายการดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ขับเคลื่อนโครงการ 72 พรรษา 7,300 โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ได้กำชับหน่วยงานดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคม เพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด ดำเนินการลงพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ให้ครบ 193 ตำบล ณ. วัดในจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ครบ 193 ตำบล ดังนี้ 1. วัดสว่างอารมณ์ บ้านดงสว่างหมู่ 12 ตำบลเกาะแก้ว 2. วัดเหนือ บ้านท่าม่วง หมู่ 4 ตำบลท่าม่วง 3. วัดราษฏร์วิสิสฐ์ บ้านราษฎร์ หมู่ 3 ตำบลนาเมือง 4. ขุดลอกร่องระบายน้ำ บ้านตาลม หมู่ 10 ตำบลเมืองไพร 5. วัดบ้านหนองฟ้า บ้านหนองฟ้าหมู่ 13 ตำบลโพธ์ทอง 6. วัดจันทร์สิริมังคราราม บ้านน้ำจั่นใหญ่ หมู่ 1 ตำบลบึงกลือ 7. วัดธรรมประดิษฐ์ทาราม โนนงามยาง หมู่ 1 ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ตามแผนงานดำเนินโครงการเติมปุ๋ยสู่ป่า 101 ป่า 101 วัด โครงการขุดลอกร่องระบายน้ำชุมชน และโครงการหว่านพันธุ์ไม้คืนสู่ป่าชุมชน 7,300 เมล็ดพันธุ์ เพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง 7 ภาคีเครือข่าย โดยการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานอื่นเกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายผังภูมิสังคม ช่วยกันขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาโดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ อาทิ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกป่า 5 ระดับ ช่วยการกักเก็บน้ำที่ลงมาท่วมขังในฤดูฝน ไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง อย่างยั่งยืนต่อไป
นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพังงา ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ พร้อมด้วย 7 ภาคีเครือข่าย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และภาคประชาชน ในการปรับภูมิทัศน์ขุดลอกคลอง ตัดต้นไม้ที่ขวางทางน้ำ กวาดขยะบริเวณถนนเลียบคลองหลังวัดดิตถาราม หมู่ที่ 2 บ้านท่าอยู่ ตำบลท่าอยู่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวว่า จังหวัดได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี ได้ดำเนินโครงการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายหน้าดินและเป็นการรักษาสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ บริเวณเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปัตตานี บริเวณ บ้านคูระ หมู่ที่ 2 – บ้านตันหยง หมู่ที่ 3 ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ความยาวประมาณ 210 เมตร ทั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์หญ้าแฝกจากสถานีพัฒนาที่ดินปัตตานี จำนวน 11,000 ต้น เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่ภาคประชาชนในพื้นที่สามารถใช้แรงงานในการดำเนินการเองได้
นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานเปิดการ Kick off กิจกรรมการกำจัดวัชพืชและผักตบชวา และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ณ บึงกะโล่ ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายใต้โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ทั้งนี้บุคลากรสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ หัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่จิตอาสา ประชาชนจิตอาสา ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และการส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเต็มศักยภาพ บึงกะโล่หรือบึงทุ่งกะโล่ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เพื่อการเกษตรของจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณประโยชน์ ในเขตตำบลป่าเซ่า ครอบคลุมบางส่วนถึงตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่รวมประมาณ 7,500 ไร่ กักเก็บน้ำได้ 11 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 11,000 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีพื้นที่เก็บกักน้ำถูกขุดลอกเพื่อใช้ในภาคการเกษตรและอุปโภคบริโภคอยู่ด้านทิศตะวันออก
ทั้งนี้ การดำเนินการขับเคลื่อนโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) อาศัยกลไกความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำงานแบบบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่ดีให้พื้นที่อื่น ๆ นำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป