กรมโยธาฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ตามข้อสั่งการ มท.1 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา

จากกรณีได้เกิดแผ่นดินไหวประมาณ 6.4 แมกนิจูด จุดศูนย์กลางประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร รับรู้แรงสั่นสะเทือนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย สกลนคร และกรุงเทพมหานคร โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยเข้าตรวจสอบให้ความช่วยเหลือประชาชน และสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ รมว.มท.สั่งการ โดยได้สั่งการให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา และสกลนคร เร่งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารต่างๆที่ได้รับผลกระทบแล้วยังได้รับรู้ถึงความสั่นไหว ได้แก่ โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้อาคารต่อไป และได้ให้มีการสุ่มตรวจสอบอาคารอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณที่รับรู้แรงสั่นไหวเพิ่มเติมด้วย ตลอดจนการให้ความรู้เบื้องต้นแก่เจ้าของอาคารในการตรวจสอบอาคารอย่างง่ายด้วยตนเอง โดยหากพบว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวสามารถแจ้งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเข้าตรวจสอบโดยละเอียดได้ต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา และสกลนคร พบว่าอาคารได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย เป็นส่วนของปูนฉาบกะเทาะ ผนังมีรอยร้าวที่ไม่กระทบโครงสร้างหลัก ทั้งหมดใช้สอยอาคารได้ต่อไป นอกจากนี้พบอาคารเรียน โรงเรียนวัดหนองออน ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อาคารมีสภาพเก่า เสาคานมีสภาพชำรุดแตกร้าว เหล็กเสริมเป็นสนิมอยู่เดิมก่อนมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว จึงได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการออกคำสั่งงดใช้อาคาร และปิดล้อมสถานที่ และแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 รับทราบและดำเนินการซ่อมแซมอาคารเรียน โรงเรียนวัดหนองออน

โดยสรุปแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง แข็งแรงของอาคารในพื้นที่ดังกล่าว แต่อย่างใด

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ยังกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดให้พื้นที่จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวจำนวน 43 จังหวัดที่จะต้องมีการออกแบบอาคารเป็นพิเศษให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ ดังนี้

“บริเวณที่ 1” เป็นบริเวณหรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย (รวม 14 จังหวัด)
“บริเวณที่ 2” เสี่ยงภัยในระดับปานกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุทัยธานี (รวม 17 จังหวัด)
“บริเวณที่ 3” เสี่ยงภัยในระดับสูง ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์ (รวม 12 จังหวัด)

ซึ่งเป็นกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นที่รองรับอาคาร ในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 ที่ควบคุมพื้นที่ทั้งหมด 43 จังหวัด และ 17 ประเภทอาคาร

การดำเนินการกับอาคารที่ก่อสร้างก่อนที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานแรงแผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออก “กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตดัดแปลงอาคารเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว พ.ศ. 2555” เพื่อให้อาคารดังกล่าวสามารถดำเนินการเสริมกำลังโครงสร้างอาคารได้ โดยไม่ติดอุปสรรคให้เรื่องของข้อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

กรณีอาคารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวงว่าด้วยการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานแรงแผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีการจัดทำมาตรฐานและคู่มือ เช่น มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ.1301/1302-61 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) และคู่มือการก่อสร้างอาคารขนาดเล็กในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพื่อให้เจ้าของอาคารสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบหรือเสริมกำลังโครงสร้างอาคารให้มีความแข็งแรงเพียงพอในการต้านทานแผ่นดินไหวได้

สำหรับข้อแนะนำสำหรับเจ้าของอาคารเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เจ้าของอาคารควรมีการตรวจสอบสภาพโครงสร้างอาคารเบื้องต้นว่ามีการเสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายหรือไม่ ถ้ามีควรพิจารณาให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร เพื่อจัดทำแผนซ่อมแซมหรือเสริมกำลังโครงสร้างให้มีความปลอดภัยไม่ให้อาคารเกิดพังถล่มเสียหายเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

การดำเนินการตามภารกิจของกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว กรมฯได้ดำเนินการครบถ้วนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้อาคารในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวมีความปลอดภัย ตั้งแต่ดำเนินการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รวมถึงได้จัดทำมาตรฐานและคู่มือเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย เพื่ออาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมีความมั่นคงแข็งแรง ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน