กรมประมง…เด้งรับนโยบาย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนผิดกฎหมาย ที่มีการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยภาคประมงได้ยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำอย่างเข้มงวด ลุยปูพรมเปิดตรวจสินค้าสัตว์น้ำแช่แข็งจากประเทศเสี่ยงสูง ที่นำเข้าทุกล็อต ทุกราย
ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนที่นำเข้าไม่ถูกต้อง หรือผิดกฎหมาย ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นย้ำในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวสอบ กักกัน และดำเนินคดี ภายใต้การบรูณาการความร่วมมือกับตำรวจ ทหาร ศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบกลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
สำหรับในส่วนของกรมประมงนั้น ที่ผ่านมามีกระบวนการในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมงอย่างเป็นระบบ โดยขั้นตอนในการอนุญาตก่อนการนำเข้า ผู้ประกอบการนำเข้าต้องยื่นคำขออนุญาตต่อด่านตรวจประมงในพื้นที่รับผิดชอบ ผ่านระบบเชื่อมโยงคําขอกลางและระบบสนับสนุนใบอนุญาต และใบรับรองผ่านอินเตอร์เน็ตกรมประมง (Fisheries Single Window :FSW) ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยหลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว ผู้นำเข้าจึงจะสามารถจัดทำใบขนสินค้าขาเข้ากับกรมศุลกากรและดำเนินพิธีการทางศุลกากร อีกทั้ง ในการขออนุญาตกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแสดงเอกสารรับรอง หรือใบรับรองแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงานรัฐของประเทศต้นทาง เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานในการสืบค้นแหล่งที่มา ซึ่งแสดงได้ว่าสัตว์น้ำนั้นไม่ได้มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในกรณีที่การนำเข้าสัตว์น้ำที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น กุ้งทะเล ผู้นำเข้าต้องแสดงใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ และในการนำเข้าจะต้องกักกันเพื่อตรวจพิสูจน์โรค ณ สถานที่พักซากที่กรมประมงรับรองด้วยกระทั่งสินค้ามาถึงท่าเทียบเรือ เมื่อผู้นำเข้าได้รับใบขนสินค้าขาเข้าจากกรมศุลกากรเรียบร้อยแล้ว ต้องยื่นเอกสารเพื่อขอแจ้งตรวจสินค้าผ่านระบบ (SMART FSW) โดยประยุกต์ใช้หลักการและแนวคิดการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ให้ระบบสามารถวิเคราะห์และประมวลผลในการเปิดตรวจสินค้าภายใต้เงื่อนไข หรือปัจจัยที่กำหนด แทนการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ หลังจากนั้นจะนัดหมายเข้าตรวจสอบสินค้า โดยทุกสินค้าประมงจะเปิดตรวจอย่างน้อยร้อยละ 30 ของการนำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม แม้ระบบจะไม่สั่งตรวจสินค้า หากเจ้าหน้าที่มีข่าวการลักลอบ หรือมีเหตุอันควรสงสัย เช่น ชนิด ปริมาณ และลักษณะสัตว์น้ำที่นำเข้าผิดวิสัยทั่วไป เจ้าหน้าที่สามารถพิจารณาสั่งตรวจเพิ่มเติมได้