นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินนโยบายร่วมกับองค์การศาสนา 5 ศาสนาจัดโครงการ“เสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา” ประกอบด้วย กิจกรรม “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด” ของศาสนาพุทธ “วันอาซูรอสัมพันธ์” ของศาสนาอิสลาม “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” ของศาสนาคริสต์ “เทศกาลนวราตรี”, “เทศกาลดิวาลี” ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และ “วันครบรอบ 554 ปี วันคล้ายวันประสูติคุรุนานักซาฮิบ องค์ปฐมศาสดา” ของศาสนาซิกข์ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในมิติศาสนา 5 ศาสนา สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติศาสนา เสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคง และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนิกชน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมของคนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายศาสนาในประเทศไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวต่อไปว่า “เทศกาลดิวาลี” คือ ประเพณีปีใหม่ของชาวฮินดูที่เก่าแก่ ซึ่งตรงกับวันอมาวัสยา หรือวันเดือนดับในเดือน 8 ตามระบบปฏิทินฮินดู จัดขึ้นเพื่อทำการบูชาขอพรพระแม่ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภ ทรัพย์สิน เงินทอง และพระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ในวันนี้ชาวฮินดูจะทำการบูชาองค์เทพด้วยแสงไฟจากตะเกียงประทีป โดยจุดให้สว่างตลอดวันตลอดคืน เพื่อขอให้ประทานพรแก่ผู้สักการะบูชา นอกจากนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองตามตำนาน คัมภีร์รามายณะ ซึ่งมีตำนานว่าเมื่อพระรามสู้รบกับเหล่าอสูรจนมีชัยแล้วก็ได้เดินทางกลับมาสู่อาณาจักรอโยธยาในคืนเดือนมืด จึงมีการเฉลิมฉลองชัยชนะด้วยไฟกันทั่วทั้งอาณาจักรอโยธยา เพื่อนำทางทัพพระรามกลับสู่อาณาจักร ด้วยเหตุนี้ เทศกาลดิวาลี จึงเป็นเทศกาลแห่งแสงสว่าง แสงไฟ และความรื่นเริงมีการจุดประทีปเป็นสัญลักษณ์การเฉลิมฉลองชัยชนะของคุณงามความดีที่มีต่อความชั่วร้าย และแสงสว่างที่อยู่เหนือความมืดมน ผู้คนนิยมแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ มีการจุดตะเกียงเพื่อให้เกิดความสว่างไสวไปทั้งบ้าน รวมถึงการชำระปัดกวาดสถานที่ให้สะอาด เพื่อเตรียมรับสิ่งดี ๆ ให้เข้ามาในบ้านเรือนหลังนั้น ๆ ในขณะที่ผู้ที่นับถือศาสนาซิกข์ก็จะเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลีด้วยเหตุผลความเชื่อที่ต่างไป โดยจะเรียกว่าวัน “บัณดิ โชรฺ ดิวัส” หรือวันปลดปล่อยเพื่ออิสรภาพและสิทธิอันเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นวันที่คุรุ ฮัร โควินท์ ซาฮิบ ศาสดาองค์ที่ ๖ ของศาสนาซิกข์ ได้รับการปลดปล่อยจากการจองจำของจักรวรรดิโมกุล โดยศาสนิกชนชาวซิกข์จะมีการทำพิธีสวดอัรดาส และสวดกีรตันขอพรร่วมกันที่คุรุดวาราศาสนสถานในศาสนาซิกข์
ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย และองค์การทางศาสนา และภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีกำหนดจัดงานเพื่อเฉลิมฉลอง “เทศกาลดิวาลีเฟสติวัล” ประจำปี พ.ศ. 2566 ถึงสองช่วงด้วยกัน โดยในช่วงแรกระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ชั้น G เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นการนำเสนอเทศกาลดิวาลีในมิติวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่าน Soft Power อินเดียในประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยเชื้อสายอินเดีย ประกอบด้วยมีกิจกรรมการแสดงแนวภารตะ แสง สี เสียงตระการตา การแสดงแฟชั่นโชว์และหลากหลายการแสดงเชิงพหุวัฒนธรรมการจัดจำหน่ายอาหารคาวหวาน และสินค้าแนวอินเดีย เอเชียใต้กว่า 60 ร้านค้า จากผู้ประกอบการอินเดีย-ไทย ชื่อดัง และช่วงที่สอง ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2566 ณ คลองโอ่งอ่าง ถนนพาหุรัด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จะมีการนำเสนอเทศกาลดิวาลี ในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม โดยในภารกิจดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากสมาคมฮินดูสมาช สมาคมฮินดูธรรมสภา และสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ซึ่งเป็นองค์การทางศาสนาที่กรมการศาสนาให้การรับรอง และเป็นเครือข่ายในการดำเนินงานด้านศาสนาร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมมาด้วยดีตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ให้มีกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในมิติศาสนาของทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมองค์การทางศาสนาให้ร่วมดำเนินงานส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ด้านศาสนา และกิจกรรมในมิติศาสนาตามความเชื่อ ได้แก่ การบูชาองค์เทพของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลานกิจกรรมจุดประทีปในสวนแห่งศรัทธาตามหลักศาสนาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลี นิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ และกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวในศาสนสถานย่าน Little India รวมถึงการร่วมอุดหนุนสินค้ากระตุ้นเศรษฐกิจ กว่า 100 ร้านค้า ชมศิลปะการแสดงภารตะในเชิงพหุวัฒนธรรม รวมถึงมหกรรมสินค้านานาชนิดจากผู้ประกอบการสะพานเหล็ก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา ภายใต้การจัดกิจกรรมเทศกาลของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ร่วมด้วยศาสนาซิกข์ เป็นการส่งเสริมให้ศาสนิกชนได้ปฏิบัติศาสนกิจตามศาสนา อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันศาสนาให้เป็นเสาหลักที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีสืบต่อไป ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติทางศาสนา เป็นการยกระดับเทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นด้านเศรษฐกิจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลาย และก่อให้เกิดความศรัทธาและความเชื่อ ที่จะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ก่อให้เกิด สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในมิติศาสนา ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน