วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.30 น. นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร มอบหมาย นายวิทูร เกิดอินทร์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำยมที่ย่านตลาดเก่าตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร พบว่าเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติจากที่เคยเอ่อล้นตลิ่งตั้งแต่เดือนกันยายน2566 โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำยม ตอนบนลดลง กอบกับปริมาณฝนลดลง หลายพื้นที่ ที่สถานีวัดระดับน้ำ แม่น้ำยม Y.17 ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม อยู่ที่ 5.05 เมตร อัตราการไหล 290.30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่ำกว่าจุดวิกฤติ 1.71 เมตร ปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำรับน้ำนอง หรือเรียกว่าน้ำทุ่ง ที่ทุ่งตำบลรังนก อำเภอสามง่าม ตำบลวังจิก ตำบลไผ่ท่าโพธิ์ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง, ตำบลบางลาย อำเภอบึงนาราง และตำบลบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
โครงการชลประทานพิจิตรติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต (อย่างเป็นระบบทั้ง 2 มิติ มิติอุทกภัยและมิติภัยแล้ง) ทั้งการเร่งการระบายน้ำลดผลกระทบอุทกภัยและการพิจารณากักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ที่กำลังจะหมดฝนเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้งให้มากที่สุด จึงทำให้มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆในพื้นที่ ผ่านพ้นวิกฤติต่อไป พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ เพื่อคลายความกังวลในพื้นที่ตามแนวทางปฏิบัติกรมชลประทานควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป