เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการต่อไป
โดยร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ วิถีทางเพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือจิต สุขภาพ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้พ้นโทษ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่ออื่น การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง ความคิดเห็นอื่น อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้ ซึ่งสอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ ๒ (๑) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ ๒ (๒) (ICESCR) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔ และมาตรา ๒๗ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ มีจำนวนทั้งหมด ๔๘ มาตรา แบ่งเป็น ๕ หมวด ๑ บทเฉพาะกาล ประกอบด้วย อารัมภบท (มาตรา ๑ – ๕) หมวด ๑ บททั่วไป (มาตรา ๖ – ๙) หมวด ๒ คณะกรรมการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลและสภาส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (มาตรา ๑๐ – ๒๑) หมวด ๓ การบริหารงาน (มาตรา ๒๒) หมวด ๔ การคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (มาตรา ๒๓ – ๓๙) หมวด ๕ มาตรการบังคับ (มาตรา ๔๐ – ๔๖) และบทเฉพาะกาล (มาตรา ๔๗ – ๔๘)
ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จะให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป