กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคล

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง มอบหมายให้ ว่าที่ ร.อ. ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคลอื่นใดที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยมี ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหัวหน้าโครงการฯนำทีมระดมสมอง พร้อมด้วยศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโครงสร้างองค์กร และ ดร.ณรงค์ ป้อมหลักทองผู้จัดการโครงการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาการออกแบบองค์กรและพัฒนาแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อการจัดรูปที่ดินฯ ตามมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาหน่วยงานและกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองด้วยวิธีจัดรูปที่ดินฯ ช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินว่างเปล่าในเมืองที่ไม่ได้รับการพัฒนา ที่ดินในชุมชนที่ไม่มีทางเข้าออก สาธารณูปโภคเข้าไม่ถึง ตลอดจนรูปแปลงที่ดินบิดเบี้ยวใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า ให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มศักยภาพตามผังเมืองและแผนการพัฒนาเมืองได้อย่างรวดเร็วและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์

การประชุมครั้งนี้ มีภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วย กรรมการจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินฯ และคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดรูปที่ดินฯ อนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปที่ดินฯ ทั้ง 5 ชุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด การเคหะแห่งชาติ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินฯ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และบุคลากรกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงบุคลากรจากหน่วยงานอื่นที่สนใจ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 41501 อาคาร 4 ชั้น 15 กรมโยธาธิการละผังเมือง ถนนพระราม 9 จำนวน 72 คน ผู้เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 211 คน มีผู้เข้าร่วมประชุมรวมทั้งสิ้น 283 คน

ผลจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นจะถูกสรุปประมวลผลเพื่อนำไปสู่การจัดทำกรอบการพัฒนาโครงสร้างและแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ตามมาตรา 35 (3) ให้สามารถเกิดขึ้น และเสริมประสิทธิภาพการพัฒนาเมืองด้วยวิธีจัดรูปที่ดินฯ ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน (Positive Analysis) แนวโน้มและความท้าทายในอนาคต ศักยภาพและข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ความต้องการของประชาชนและท้องถิ่น กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต พร้อมทั้งสามารถสร้างความยั่งยืนของหน่วยงาน (Sustainability)โดยมีกระบวนการพัฒนาองค์กรและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ 13 ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 พื้นที่และเมืองอัจฉริยะ และหมุดหมายที่ 13 ภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ประชาชน เพื่อผลลัพธ์ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และเป็นการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาพื้นที่ระหว่างประชาชนกับรัฐ อันเป็นแนวปฏิบัติใหม่ในการพัฒนาเมือง ลดภาระงบประมาณแผ่นดิน และก่อให้เกิดความยั่งยืนกับการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศต่อไป