วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ร่วมประชุมเต็มคณะของการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส
รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุนบทบาทของยูเนสโกในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และน้อมนำแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเน้นย้ำในการกำหนดนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ผสมผสานการเรียนการสอนแบบเดิมในห้องเรียนกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา มุ่งสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมให้ดียิ่งขึ้นสำหรับโลกแห่งอนาคต
สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนข้อริเริ่มของยูเนสโกในการจัดทำหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการศึกษาสีเขียว และการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพื้นที่สงวนต่าง ๆ เป็นศูนย์ทดลองและศูนย์การเรียนด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการใช้เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก
สำหรับพิธีเปิดการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 22 พฤศจิกายน 2566 ซึ่ง Ms. Simona-Mirela Miculescu เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มราชอาณาจักรโรมาเนียประจำกรุงปารีส และผู้แทนถาวรโรมาเนียประจำองค์การยูเนสโก ได้ถูกรับเลือกเป็นประธานการประชุมฯ โดยมีการประชุมเต็มคณะและการประชุมคณะกรรมาธิการทั้ง 5 สาขาหลักของยูเนสโก ได้แก่ คณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษา คณะกรรมาธิการฝ่ายวิทยาศาสตร์ คณะกรรมาธิการฝ่ายวัฒนธรรม คณะกรรมาธิการฝ่ายสังคมและมนุษยศาสตร์ และคณะกรรมาธิการฝ่ายสื่อสารมวลชน
ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้พบหารือกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศร่วมเสนอ “เคบายา” ขึ้นทะเบียนรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และได้เดินทางไปสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เพื่อรับทราบภารกิจต่าง ๆ รวมถึงการดูแลคนไทยในต่างประเทศ พร้อมพบปะ นักเรียนไทยที่ได้รับทุน กพ. และทุนหน่วยงานราชการ และนักเรียนที่เดินทางมาศึกษาด้วยตนเองที่กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสจำนวน 14 คน
ในเวลาต่อมาได้เยี่ยมชมสถาบันอาชีวศึกษาและบริษัทชื่อดังด้านเทคโนโลยีของฝรั่งเศส เพื่อเจรจาหารือความร่วมมือด้านการศึกษา โดยได้พบหารือกับผู้บริหารของสถาบัน AFMAÉ สถาบันอาชีวศึกษาด้านการบิน พร้อมรับฟังการนำเสนอการจัดการเรียนการสอน ซึ่ง รมว.ศธ. มีข้อเสนอแนะว่าควรนำมาเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย โดยได้ชื่นชมความร่วมมือกับบริษัทภาคเอกชน ทั้งด้านการฝึกงาน และการสร้างหลักประกันของการทำงานนักศึกษาที่จบหลักสูตร สอดคล้องกับนโยบาย ‘Learn to Earn’ และได้หารือกับผู้บริหารบริษัทดัสซอลท์ ซิสเต็ม (Dassault Systemes) เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษาโดยเฉพาะเรื่อง AI ไปประยุกต์ใช้ในการศึกษา
ในการนี้ได้นำเสนอนโยบายและจุดเน้นของศธ. “เรียนดี มีความสุข” โดยเฉพาะในประเด็นเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีแนวคิดที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต และ ได้เข้าเยี่ยมชมพระราชวังฟงเตนโบล (Château de Fontainebleau) ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และแนวทางการอนุรักษ์พระราชและอีกด้วย