กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดงานสัมมนาเนื่องในวันผังเมืองโลก 2566 “SHAPING THE FUTURE : URBAN PLANNING FOR CLIMATE CHANGE ADAPTATION” อนาคตออกแบบได้

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลก เรื่อง “SHAPING THE FUTURE : URBAN PLANNING FOR CLIMATE CHANGE ADAPTATION” อนาคตออกแบบได้ : พลิกโฉมผังเมืองรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดึงผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ – ภาคเอกชน มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนแนวคิด สู่การพัฒนางานผังเมือง ในการออกแบบและสร้างสรรค์เมืองในอนาคต ให้สามารถตอบโจทย์ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองและปรับตัวได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวรายงาน​ พร้อมด้วย​ Mr.Remco van Wijngaarden เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย​ Mr.Heinrich Gudenus ผู้แทนจาก​ Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) GmbH Mr.Christopher Kaczmarski ผู้แทนจาก​ Economic And Social Commission For Asia And The Pacific (ESCAP) Mr.Haruka Ozawa เลขานุการโทเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น Mr.Srinivasa Popuri ผู้แทนจาก​ United Nations (UN) สหประชาชาติ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง​ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม​ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน​ นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง​ และนางสาวอัญชลี ตันวานิช​ ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง​ ร่วมงานสัมมนา​ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างประสบปัญหาวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในภูมิภาคต่าง ๆ กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายหลายอย่างที่ตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก การออกแบบและสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม​ ​แต่เมื่อพูดถึง “การออกแบบผังเมือง” ก็พบว่าเรายังมีงานอีกมากที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผังเมืองให้เอื้อต่อการเดินทางโดยใช้พลังงานน้อยที่สุด​ ผังเมืองที่ดีในหลายประเทศจะส่งเสริมให้คนเดินทางด้วยการเดินเท้า หรือโดยจักรยานได้มากขึ้น อาคารต่าง ๆ ในเมืองจะต้องสร้างบนวัฒนธรรมการออกแบบที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน​ นอกจากนี้ เมืองยังต้องคำนึงถึงการจัดการระบบการไหลเวียนของน้ำ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า การป้องกันและจัดการกับอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเธน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน​ และให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุ ​แน่นอนว่า ถ้าเรามีเมืองที่ว่างเปล่า และเริ่มสร้างทุกอย่างจากศูนย์ ภารกิจนี้ก็คงไม่ยาก แต่ความท้าทายอยู่ที่เราต้องบริหารจัดการเมืองที่มีวิวัฒนาการของตัวเองไปไกลแล้ว ให้มาอยู่ในวิถีของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จึงต้องมีทั้งการจัดการทางกฎหมาย การรณรงค์ให้ความรู้ผู้คนและกระบวนการดำเนินการตามวิถีใหม่ ที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลกอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผังเมือง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชนได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการผังเมือง โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานผังเมืองให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม มิติความมั่นคงและยุติธรรม และมิติความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศและระหว่างประเทศในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

สำหรับการจัดงานในวันนี้กำหนดจัดขึ้นในหัวข้อ เรื่อง “SHAPING THE FUTURE : URBAN PLANNING FOR CLIMATE CHANGE ADAPTATION” “อนาคตออกแบบได้ : พลิกโฉมผังเมืองรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก ได้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเนื่องจากความผันแปรตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลกระทบไปสู่เมืองที่ประชาชนอาศัยอยู่ การสัมมนาในวันนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ในการคิดวิเคราะห์ ออกแบบเมือง และขับเคลื่อนงานด้านผังเมือง งานด้านการพัฒนาเมือง ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ให้มีความยืดหยุ่นในทุกด้าน ส่งผลให้เมืองเกิดนวัตกรรมใหม่ในหลากหลายมิติ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา มาร่วมแบ่งปันแนวคิดในการออกแบบสร้างสรรค์เมือง เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ

– การบรรยายพิเศษ เรื่อง “การน้อมนำศาสตร์พระราชาตามแนวพระราชดำริ “การพัฒนาภูมิสังคม” จัดทำ “ผังภูมิสังคมชุมชน” เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขในกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดย นายคณิต ธนูธรรมเจริญ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในหน้าที่ฝ่ายศึกษาและพัฒนาป่าไม้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และที่ปรึกษาอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
– การบรรยายพิเศษ เรื่อง การพัฒนาเมืองและนโยบายสาธารณะกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดย นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา
– การบรรยายพิเศษ เรื่อง โลกร้อนทะเลเดือดกับการวางผังเมืองริมทะเลไทย โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– การเสวนา เรื่อง “SHAPING THE FUTURE : URBAN PLANNING FOR CLIMATE CHANGE ADAPTATION” โดย 1. คุณรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาแนวทางและเพิ่มศักยภาพการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 2. คุณกชกร วรอาคม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Landprocess จำกัด 3. รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 5. ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงมั่นใจได้ว่าการสัมมนาครั้งนี้ จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนา ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ จำนวนประมาณ 400 คน และสามารถเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์พร้อมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กรมโยธาธิการและผังเมืองหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ จะได้รับความรู้ และมีความเข้าใจงานด้านการผังเมือง และการพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้น จากกิจกรรมต่าง ๆ ในงานที่อัดแน่นด้วยนักวิชาการที่มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการออกแบบเมืองในอนาคต ให้เป็นเมืองที่พึ่งพาตนเอง และปรับตัวได้ในสถานการณ์ของโลก ที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข พร้อมก้าวสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง