ศธ. ขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตในสถานศึกษา ใช้สื่อออนไลน์สร้างสรรค์ พร้อมหาแนวทางลดภาระงานครูอย่างยั่งยืน

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) จัดทำแพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ซึ่งมีการหารือการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 4/2566 โดยมีนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นายสมใจ วิเศษทักษิณ รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการ ศธ. และผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า รมว.ศธ. ได้ให้หลักการและแนวคิดในการสร้าง Tiktok โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลิตสื่อและเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางแอปพลิเคชัน Tiktok และได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีแนวคิดที่จะดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น Coaching การแนะแนวการเรียน เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจิต เป็นต้น

ดังนั้นหากหน่วยงานใดมีโครงการที่จะผลิตสื่อหรือหนังสั้น ขอให้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาและวิธีการสื่อสารที่มีความทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งอยากให้ทุกหน่วยงานมีการจัดประกวด Tiktok ของสถานศึกษาในสังกัดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา โดยสามารถคิดแฮชแท็ก (#) ที่สามารถสื่อสารได้อย่างกว้างขวางและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อาจจะไม่เกิน 3 แฮชแท็ก เช่น #เรียนดีมีความสุข #สุขภาพจิตดี #(ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน)

ในส่วนของการผลิตอินโฟกราฟิกที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต อยากให้ทุกหน่วยงานสื่อสารข้อมูลด้วยเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย มีความน่าสนใจ สามารถสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงศึกษาธิการที่ดำเนินการอยู่แล้ว ก็สามารถลดความเป็นทางการ เพื่อเพิ่มการสื่อสารกับคนภายนอก และสร้างความรู้สึกว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นมิตรกับทุกคน

นอกจากนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด หาแนวทางในการลดภาระงานครู ทั้งเรื่องการอยู่เวรตอนกลางคืน งานเอกสารนอกเหนือจากการเรียนการสอน การโยกย้ายครู หรือแม้แต่การเพิ่มอัตรากำลัง รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่ครูคิดว่าเป็นภาระ อาทิ การชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงนักเรียน ที่ไม่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ถ้าหน่วยงานอื่น ๆ ขอมาก็ต้องชั่งวัดใหม่ หรือการขึ้นเงินเดือน 3% ที่น่าจะเปลี่ยนการคิดเงินเดือนจากเดิมใช้ฐานของโรงเรียน มาเป็นภาพรวมฐานของเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะช่วยให้การขึ้นเงินเดือนครูโรงเรียนเล็กเพิ่มมากขึ้น เพราะในโรงเรียนเล็กภาระงานครูจะหนักมาก

“หากแต่ละหน่วยงานมีแนวทางแก้ไขภาระงานครูเหล่านี้ก็จะเป็นข้อเสนอในเชิงนโยบาย เพื่อนำเสนอเป็นหลักการต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาที่มี รมว.ศธ. เป็นประธาน ซึ่งถ้ากระทรวงศึกษาธิการสามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นของขวัญ ช่วยเพิ่มกำลังใจ รวมทั้งสร้างความสุขให้แก่ครู เพื่อมุ่งมั่นพัฒนายกระดับเด็กนักเรียนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืนต่อไป” นายสิริพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการรับฟังการนำเสนอรายละเอียดแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตของหน่วยงานในสังกัด ซึ่งมีแผนงานที่เด่นชัด อาทิ การจัดการศึกษาในเขตจังหวัดของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ให้เด็กได้รับการศึกษาตลอดชีวิต ที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มเป้าหมาย และความต้องการพิเศษ, การพัฒนาสร้างครูแนะแนวและศึกษานิเทศก์แกนนำ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาพื้นที่ในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนพร้อมขยายผลจนครบทุกโรงเรียน, โครงการ 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัย ให้ความรู้ ดูแล ช่วยเหลือ เพื่อส่งต่อผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างมีคุณภาพ, School Health HERO ระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ เพื่อเฝ้าระวัง เรียนรู้ รับคำปรึกษา เพื่อดูแลนักเรียนที่เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะการเข้าสังคม ซึ่ง สช. จะนำระบบฯ ต้นแบบของ สพฐ. ไปทดลองใช้ในโรงเรียนเอกชนผ่านแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชน โดยจะมีการประชุมครั้งถัดไป (ครั้งที่ 5/2566) ในวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2566