กรมทะเลชายฝั่ง ช่วยพะยูนเกยตื้นสำเร็จ บริเวณแหลมจูโหย จังหวัดตรัง

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ( ศวอล.) ได้รับแจ้งจาก นายกฤษณะ ผ่องศรี เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ว่าพบพะยูนเกยตื้นมีชีวิตอยู่บริเวณแหลมจูโหย ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวอล. ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ นำเรือยางขนาดเล็กและเรือพาดหางยาว จำนวนทั้งสิ้น 4 ลำ เพื่อสำรวจและติดตามช่วยเหลือพะยูนตัวดังกล่าว

ภายหลังการสำรวจพบว่าพะยูนมีเชือกรอบปูพันอยู่ที่โคนหาง เจ้าหน้าที่ ศวอล. จึงได้ทำการช่วยเหลือพะยูนและทำการปลดเชือกบริเวณโคนหางโดยทันที จากการตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่าเป็นพะยูนเพศเมียอยู่ในช่วงวัยรุ่น ขนาดตัวประมาณ 2 เมตร มีเพรียงเกาะตามลำตัวเล็กน้อย มีบาดแผลที่โคนหางซึ่งเกิดจากการถูกเชือกพันรัด แผลบาดลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ ขอบแผลเป็นเนื้อตายสมานกัน เนื่องจากเป็นแผลเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งพะยูนสามารถตอบสนองและทรงตัวว่ายน้ำได้ดี จึงพิจารณาปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ภายหลังการช่วยเหลือพะยูน ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ศวอล. นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ พร้อมทั้งให้เร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ให้เฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำของพะยูนตัวดังกล่าว

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ศวอล. ดำเนินการประชาสัมพันธ์นำคู่มือและแผ่นพับการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลเบื้องต้นแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อสร้างความเข้าใจในการช่วยเหลือการเกยตื้นหรือการได้รับบาดเจ็บของสัตว์ทะเลหายากให้ปลอดภัยทันท่วงที ตามข้อสั่งการของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดอินโฟกราฟฟิกการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ทะเลหายากเพื่อนำไปเป็นสื่อการสอนได้ที่

https://www.dmcr.go.th/detailAll/50663/nws/199