โครงการชลประทานเชียงใหม่ ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง เน้นย้ำอ่างฯ มีความมั่นคง

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายศุภมิตร กฤษณมิตร หัวหน้าฝ่ายจัดการความปลอดภัยเขื่อนและอาคารชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 1 และ นายนวพล อาชญาทา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) นำมาเผยแพร่และทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความกลัวอ่างเก็บน้ำแตก เกรงว่าจะได้รับผลกระทบและความเสียหาย

ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ตัวอ่างมีความมั่นคง ปลอดภัย และคลองระบายน้ำมีศักยภาพในการระบายน้ำ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 4.9 ล้าน ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 108% ของความจุ ซึ่งอ่างฯ สามารถรับได้ได้อีก 1 เมตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำ 670,000 ลูกบาศก์เมตร จึงจะถึงระดับเก็บกักสูงสุด โดยโครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มีการระบายน้ำและผันน้ำสู่อ่างพวง เก็บกักน้ำไหลเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนด้านท้ายน้ำ

นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ออน เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2529 ความจุ 4.5 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งอ่างแม่ออนมีน้ำท่าเฉลี่ยที่ออกแบบไว้ 18 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เก็บน้ำได้เพียง 4.5 ล้าน ลูกบาศก์เมตรโอกาสที่น้ำจะล้นจากสปิลเวย์ออกไปนั้นมีได้ ขณะนี้มีน้ำล้นจากสปิลเวย์ 12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำที่ล้นจากสปิลเวย์นั้นลำห้วยและด้านท้ายน้ำยังสามารถรองรับน้ำได้อยู่ ไม่ได้ไปล้นสองฝั่งลำน้ำแต่อย่างใด สภาพความมั่นคงของเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรงดี โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 โครงการชลประทานเชียงใหม่ คอยเฝ้าระวังอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังมีอุปกรณ์วัดแรงดันน้ำของเขื่อนไว้ด้วย และขอยืนยันกับพี่น้องชาวแม่ออนได้ว่า เขื่อนแห่งนี้ไม่มีการแตก และไม่มีการรั่ว

ทางชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ให้ความมั่นใจเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังคงมีความห่วงใยอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่ได้โอนไปให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว ฝากเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกแห่งต้องเข้าไปสำรวจดูว่าสภาพอ่างเก็บน้ำเป็นอย่างไร มีความมั่นคงหรือไม่ มีการรั่วซึมหรือไม่ มีดินสไลด์ ทางระบายน้ำล้นมีสิ่งกีดขวางหรือไม่ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเชิงวิชาการหรือขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ ติดต่อได้ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน ถนนทุ่งโฮเต็ล ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้น้ำได้มีการวางกระสอบทรายให้สูงขึ้น 40 เซนติเมตร ด้านเหนืออาคารน้ำล้น เพื่อให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น ในช่วงที่ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำได้ดำเนินการวางกระสอบทราย ก็มีฝนตก และมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 1.2 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ทำให้กระแสน้ำพัดพากระสอบทรายที่กั้นไว้ลงไปท้ายน้ำทั้งหมด สำหรับการกั้นความสูง 40 เซนติเมตร นั้นไม่มีผลต่อการเก็บกักน้ำ ซึ่งทางเขื่อนมีระยะเก็บกักจนถึงสันเขื่อนประมาณ 3 เมตร บางเขื่อนก็มีการเสริมฝายพับได้ เสริมฝายยางบริเวณสปิลเวย์ ส่วนใหญ่ก็จะเก็บกักได้ประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ขนาดของตัวสปิลเวย์ที่ออกแบบไว้ และยืนยันว่าเขื่อนแม่ออนมีความมั่นคงแข็งแรง

สำหรับอ่างเก็บน้ำอื่น ๆ เช่น อ่างเก็บน้ำโป่งจ้อที่มีน้ำล้นสปิลเวย์ทำให้น้ำบางส่วนไปกัดเซาะร่องถนนของราษฎรที่อยู่ด้านท้ายน้ำ ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนอ่างอื่น ๆ ที่ล้นสปิลเวย์อยู่ในภาวะควบคุมได้ ภาพรวมของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 13 แห่ง ปริมาณน้ำเกือบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ทุกอ่าง ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ เหลือเพียงเขื่อนแม่กวงอุดมธาราที่น้ำยังไม่เต็มเขื่อน

สถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดเชียงใหม่ ทางชลประทานฯ สามารถควบคุมในเขตชลประทานได้ หลังจากเสร็จสิ้นฤดูฝนแล้วจะเริ่มประมาณวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ซึ่งจะต่างจากภาคกลางจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ประมาณช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ก็จะทราบข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนทั้งหมดของโครงการฯ และจะได้ดำเนินการวางแผนการใช้น้ำโดยเน้นการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำกิน น้ำใช้ น้ำประปาเป็นอันดับแรก น้ำรักษาระบบนิเวศน์เป็นลำดับถัดไป และน้ำที่เหลือจะเก็บไว้เป็นน้ำต้นทุนในปี 2567 เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ฤดูแล้งว่าอ่างไหนจะปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือปลูกพืชฤดูแล้ง โดยส่วนใหญ่แล้วจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นอ่างเชิงเดี่ยว แต่ละอ่างจะมีพื้นที่ส่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูกด้วยตัวเอง

จากนั้นกลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกับชลประทานก็จะมาประชุมทำข้อตกลงกันว่าจะทำการเพาะปลูกพืชชนิดใดปริมาณเท่าไหร่ เช่น การปลูกไม้ผล การปลูกข้าวนาปรัง หรือปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งโครงการชลประทานเชียงใหม่ยืนยันว่าในเขตชลประทานไม่มีสถานการณ์ภัยแล้งอย่างแน่นอน แต่อาจจะมีนอกเขตชลประทานบางแห่ง ปัจจุบันสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์เกินกว่าค่าเฉลี่ยไปแล้ว และแหล่งน้ำธรรมชาติยังคงมีน้ำอยู่เพียงพอ คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีหน้าจะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรง ทั้งนี้ โครงการยังคงมาตรการการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดและไม่ประมาท เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตามข้อสั่งการของกรมชลประทาน

ด้านนายศุภมิตร กฤษณมิตร หัวหน้าฝ่ายจัดการความปลอดภัยเขื่อนและอาคารชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า จากการตรวจเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 1 ยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก ส่วนเรื่องการเกิดแผ่นดินไหวในห้วงที่ผ่านมา ตัวอ่างเก็บน้ำไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด