วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงข่าวการขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายหลังการประชุมผู้บริหารประจำเดือน พร้อมทั้งเปิดตัวศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSEC โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ
นายวราวุธ กล่าวว่า ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ Human Security Emergency Management Center : HuSEC เป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยเป็นหน่วยงานกลางในการกำกับ ควบคุม ส่งต่อ และติดตามการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพ ผ่านการปฏิบัติการของหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Response Unit : RRU) ของทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และสื่อสารสังคมเชิงรุกเพื่อสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ศรส. เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้ (1 พ.ย. 2566) เป็นต้นไป โดยมี นางสาว ซาราห์ บินเย๊าะ ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม เป็นผู้ประสานงานหลัก ศรส. และจะมีการเปิดตัวทำงานอย่างเต็มรูปแบบในเดือนมกราคม 2567 ทั้งนี้ ประชาชนผู้ประสบปัญหาสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือมายัง ศรส. ผ่านช่องทางในการร้องเรียน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 และ Line OA “ESS Help Me” ปักหมุดหยุดเหตุ รวมทั้งเดินเข้ามาติดต่อโดยตรงที่กระทรวง พม. ดังนั้น การจัดตั้ง ศรส. จะเป็นการเชื่อมโยงทุกหน่วยงานของกระทรวง พม. ภายใต้แนวคิดที่ตนมอบไว้ คือ “พม. หนึ่งเดียว” ไม่ว่าจะเป็นกรมที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งปัญหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. นั้น จะต้องทำงานในลักษณะ พม. หนึ่งเดียว ซึ่ง ศรส. จะเป็นการรวมศักยภาพของกระทรวง พม. ทั้งหมดเอาไว้ด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนผ่านทางช่องทางต่างๆ ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้การดูแลช่วยเหลือคุ้มครองพี่น้องประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหากมีกรณีเร่งด่วนจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว Day Team และ Night Team ลงพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการดำเนินงานของ ศรส. นั้น จะเป็น Back office และ War Room ที่จะประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเรื่องที่รับร้องเรียนเข้ามาจะต้องมีระบบการติดตามงาน เมื่อพี่น้องประชาชนร้องเรียนเข้ามาแล้ว ต้องรู้ว่าเรื่องของท่านดำเนินการไปถึงไหน ดำเนินการอย่างไร และแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งการทำงานลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประชาชนรับทราบบริบทหน้าที่ของกระทรวง พม. และหวังว่าหากมีปัญหาเกิดขึ้นขอให้พี่น้องประชาชนนึกถึงกระทรวง พม. สายด่วน พม. 1300 และ Line OA “ESS Help Me” ปักหมุดหยุดเหตุ เพื่อให้กระทรวง พม. จะได้ส่งทีมเคลื่อนที่เร็วไปช่วยแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะอยู่ที่ใดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ เพราะเรามีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด มีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตนจะติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง และหลังจากนี้ 1 เดือนข้างหน้าจะมีการรายงานให้ทราบถึงความก้าวหน้าการทำงานของ ศรส. ว่าได้แก้ปัญหาอะไร อย่างไรบ้าง
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ วันนี้ยังมีการประชุมผู้บริหารกระทรวง พม. ประจำเดือน เพื่อให้แต่ละหน่วยงานมาอัพเดทการดำเนินงานในรอบหนึ่งเดือน และการดำเนินงานตามนโยบายและการแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้ว ตนจะได้นำมาผลการดำเนินงานมาบอกกล่าวให้ประชาชนรับทราบผ่านการแถลงข่าวทุกๆ เดือน เช่น กรณีการจ่ายค่าอาหารสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. เพิ่งได้รับค่าอาหารเพิ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำงานกับเพื่อนของกระทรวง พม. ในรอบสองเดือน และจากการลงพื้นที่เมื่อวานนี้ ตนได้ทดลองเป็นคนตาบอดและทดลองเป็นผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ จึงทำให้เข้าใจถึงข้อจำกัด และความยากลำบากของคนพิการมากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไข และกระทรวง พม. ทำงานเพียงกระทรวงเดียวไม่ได้ ต้องประสานงานกับทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนพิการ เพราะสังคมไทยจะต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม
#กระทรวงพม #รมวพม #รับฟังทำจริง