นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และนายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environmental Social Governance & Business Stakeholder Engagement ร่วมเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กับบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ใน “โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเนื้อไม้และวัสดุเหลือใช้จากสวนป่า และโครงการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต” โดยมี นายไพรัตน์ ครุฑวิสัย ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจคาร์บอนและนวัตกรรม เป็นผู้แทนจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และนายพิศาล พีรสิทธิกุล ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อม และสังคม เป็นผู้แทนของบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในครั้งนี้ ณ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
“โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเนื้อไม้และวัสดุเหลือใช้จากสวนป่า อ.อ.ป. – CPAC” จะร่วมกันศึกษาแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไม้ เช่น หาวิธีแปรรูปไม้ให้มีรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ รวมทั้งการแปรรูปไม้ให้ตรงกับความต้องการของสถาปนิกและตลาดในอนาคต รวมถึงร่วมกันศึกษาหาแนวทางในการนำวัสดุเหลือใช้จากสวนป่ามาพัฒนาเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนการใช้พลังงานในรูปแบบเดิม โดย อ.อ.ป.- CPAC จะร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการและรูปแบบการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยจะหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดโครงการกิจกรรม รายละเอียดในการดำเนินการ เป้าหมาย ค่าใช้จ่าย งบประมาณ ระยะเวลา และบุคลากรที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ รวมทั้งการจัดการผลประโยชน์และทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องและอยู่ภายใต้บังคับ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
สำหรับโครงการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต อ.อ.ป.-CPAC จะร่วมกันศึกษาการดำเนินการ และ/หรือ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปลูกป่าเพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต และ/หรือ เพื่อเป็นพื้นที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ตามหลักวิชาการในพื้นที่สวนป่าของ อ.อ.ป. สนับสนุนการจัดทำสวนป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่รอบโครงการ เป็นต้น ตลอดจนสนับสนุนและพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบพื้นที่ให้ความสำคัญกับการปลูกป่าเพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต และเพื่อความยั่งยืนของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแบ่งปันข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลด้านเทคนิค รวมทั้งการบริหารจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอนเครดิต และ/หรือ ปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ตามโครงการ
ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ อ.อ.ป. – CPAC มุ่งหวังว่า ทั้งสองโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมจากการใช้เศษวัสดุเหลือใช้ในการทดแทนพลังงานเดิม พัฒนาเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังร่วมขับเคลื่อนชุมชนให้เห็นความสำคัญของการปลูกป่า ซึ่งจะส่งผลในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ และความยั่งยืนของชุมชนต่อไปในอนาคต