ประเทศไทยโดยกรมประมง ร่วมกับ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียในหัวข้อ Regional Workshop for Asia on the 2022 FAO Voluntary Guidelines for Transshipment (VGT) เพื่อกำหนดแนวทางในการขนถ่ายสัตว์น้ำและการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า รวมถึงการควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำของแต่ละประเทศ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ณ โรงแรม Courtyard by Marriott กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 – 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกของ FAO ในภูมิภาคเอเชียจำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ราชอาณาจักรกัมพูชา ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย ในการร่วมกันพิจารณาแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสัตว์น้ำและการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า และหารือถึงการดำเนินงานในการควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำของแต่ละประเทศ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของประเทศสมาชิก พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันเสนอแนะการนำแนวทางการขนถ่ายสัตว์น้ำและการนำสัตว์น้ำขึ้นท่าไปถือปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) โดยร่วมกันจัดทำมาตรการที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสให้แก่ทุกรัฐในการปฏิบัติ มุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่การมีส่วนร่วมและการประสานงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในระยะยาวของทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเล มีความโปร่งใสและไม่เลือกปฏิบัติต่อรัฐใดรัฐหนึ่งหรือเรือประมงของรัฐตน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ในระดับภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยได้มีการดำเนินงานในฐานะรัฐเจ้าของท่าตาม PSMA ตั้งแต่ปี 2559 ทำให้การตรวจสอบ และควบคุมการขนถ่ายและการนำสัตว์น้ำขึ้นท่าจำเป็นต้องเป็นไปอย่างมีมาตรฐานและต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนทุกหลักเกณฑ์กำหนด ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการทำการประมง IUU ต้องมีข้อปฏิบัติที่เข้มงวดและมีมาตรฐาน เพื่อพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ได้ดำเนินการขนถ่ายจากเรือจับสัตว์น้ำมากับเรือขนถ่ายว่ามีชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่แท้จริงจำนวนเท่าไหร่ ให้สอดคล้องกับเครื่องมือทำประมง พื้นที่จับ หรือแหล่งการทำประมงหรือไม่ ซึ่งรัฐเจ้าของธงเรือ (Flag States) จะต้องออกเอกสารรับรองการจับในแต่ละช่วงเวลาการทำการประมงมาแสดง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดิบสัตว์น้ำที่มากับเรือขนถ่ายและนำเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำของไทยมิได้มาจากการทำประมง IUU และสอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศและตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกไว้
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ กรมประมงได้นำเสนอมาตรฐานในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประกอบการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทย ได้แก่ ใบอนุญาตทำการประมง ใบอนุญาตขนถ่ายสัตว์น้ำ ผังการจัดเก็บสัตว์น้ำบนเรือ (Stowage plan) เอกสารแสดงการขนถ่ายสัตว์น้ำ (Transshipment Declaration) การใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบเส้นทางการทำการประมง รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง และองค์กรระดับนานาชาติ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการประสานงานกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานร่วมกันในการป้องกันการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบที่ได้มาจากการทำประมง IUU เข้ามาสู่กระบวนการผลิต อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการประมงไทยทุกมิติอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศปลอดประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมหรือ IUU-free Thailand อย่างสมบูรณ์ …รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้าย