ตามที่ คณะรัฐมนตรีมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 – 12 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนหลายโครงการ เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน การผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตลอดจนการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ “นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” เป็นนโยบายที่มีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินนโยบาย เช่น ที่มาของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ หน่วยงานเจ้าของโครงการฯ แนวทางในการเติมเงินและการชำระเงิน คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงิน เขตพื้นที่ในการใช้จ่ายเงิน ข้อจำกัดของผู้มีสิทธิ ที่มิได้อาศัยอยู่ในเขตภูมิลำเนาตามที่อยู่ในบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงรายละเอียดหรือขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้พิจารณารายงานการเฝ้าระวังการทุจริต จากเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พบว่า นโยบาย “การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” เป็นหนึ่งในนโยบายที่มีการแถลงต่อรัฐสภา และเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ จึงนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา โดยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา และดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามในคำสั่งฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ (พรบ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561) ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในการจัดทำมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ พ.ศ. 2561 โดยมีรายชื่อคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีจำนวน 31 คน
โดยมี นางสาวสุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานกรรมการ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นรองประธานกรรมการ และมีรายชื่อกรรมการ จำนวน 23 คน ดังนี้ รองศาสตราจารย์มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองศาสตราจารย์สิริลักษณา คอมันตร์ รองศาสตราจารย์อัจนา ไวความดี รองศาสตราจารย์อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้แทน อัยการสูงสุด หรือผู้แทน เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้แทน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน ประธานสภาอุตสาหกรรม หรือผู้แทน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายภูมิศิริ ดำรงวุฒิ นางสาวภาณี เอี้ยวสกุล นายสุทธินันท์ สาริมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกลุ่มภารกิจป้องกันการทุจริต ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม และผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต เป็นกรรมการและเลขานุการ
โดยคณะกรรมการคณะนี้ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
1. รวบรวม และดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. เสนอความเห็น เพื่อให้มีการเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา
3. ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หน่วยงานภายนอกและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
4. เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการคณะนี้กำหนดและเห็นสมควร
5. ดำเนินการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตต่อนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
6.ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ จะเน้นการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง จากผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามหลักความเป็นกลาง รอบคอบ รอบด้าน และเป็นธรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการทุจริต อันอาจส่งผลให้การดำเนินนโยบายไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อีกทั้ง นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการศึกษาให้รวดเร็วควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นการก้าวล่วงการดำเนินงานของฝ่ายบริหารหรือเป็นการระงับยับยั้งการดำเนินนโยบายโดยไม่มีเหตุอันควร