กรมชลประทาน ร่วมขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทย

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวง ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ (Project Board) ครั้งที่ 1/2566 โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture)

โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา Miss.Irina Goryunova, Deputy Resident Representative, UNDP Thailand (ผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย) และผู้ข้องร่วมประชุม พร้อม VDO Conference ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture) เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกรมชลประทาน และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund : GCF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ การวางแผนการเพาะปลูก และเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มเกษตรกรที่เปราะบาง ในการลดความผันผวนของวิถีชีวิตอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เสริมสร้างความสามารถในการวางแผนแบบบูรณาการ และคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

กรมชลประทาน ได้พิจารณาคัดเลือกโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ครอบคลุม พื้นที่ 22 ตำบล 7 อำเภอ 3 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการ โดยบูรณาการขับเคลื่อนผ่าน 3 ผลผลิต ประกอบด้วย

ผลผลิตที่ 1 ระบบบริหารข้อมูล ด้านการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพื่อการชลประทาน (การพยากรณ์ น้ำฝน น้ำท่า และแผนการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน)

ผลผลิตที่ 2 โครงสร้างพื้นฐานที่ผสมผสานมาตรการสิ่งก่อสร้าง และมาตรฐานเชิงนิเวศ เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ

ผลผลิตที่ 3 การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของเกษตรกร

การประชุมในครั้งนี้ เป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการในแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และพิจารณาปรับแผนการดำเนินโครงการ จากเดิม 5 ปี (2565-2569) เหลือ 4 ปี (2566-2569) โดยประธานฯ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จเป็นไปตามแผน เนื่องจากโครงการดังกล่าว ถือเป็น 1 ในโครงการสำคัญ ของกรมชลประทาน รวมถึงหน่วยงายในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้บูรณาการร่วมกันขับเคลื่อน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรและประชาชน