วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง มอบหมายให้ นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 5/2566 โดยมีนางพิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ เข้าร่วมการประชุมพิจารณาประเด็นเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอกรมการค้าภายในพิจารณาดำเนิน “โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลปี 2566” เพิ่มเติมการชดเชยส่วนต่างราคาจำหน่ายกุ้งอีก 2,500 ตัน เพื่อเชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้งทะเลภายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) ได้อนุมัติโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566
โดยรัฐช่วยชดเชยส่วนต่างราคาให้แก่เกษตรกรในโครงการฯ กิโลกรัมละ ไม่เกิน 20 บาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรหรือผู้รวบรวมในโครงการฯ กิโลกรัมละ ไม่เกิน 10 บาท เป้าหมายผลผลิตรวม 5,000 ตัน ระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน (สิ้นสุดเดือนกันยายน 2566) ซึ่งต่อมา คบท. ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ขยายระยะเวลาดำเนินการออกไปอีก 3 เดือน ไปสิ้นสุด วันที่ 30 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากราคากุ้งตกต่ำ ซึ่งชริมพ์บอร์ดตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน จึงได้จัดประชุมวาระพิเศษนี้ขึ้น เพื่อพิจารณาการเพิ่มปริมาณการเชื่อมโยงการจำหน่ายผลผลิตกุ้งทะเลภายในประเทศดังกล่าว
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า ชริมพ์บอร์ดยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานอยู่ภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรัฐมนตรีที่จัดตั้งใหม่ จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรคลายความกังวล โดยทุกภาคส่วนยังคงร่วมกันขับเคลื่อนงานและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยยังคงไปต่อได้ แต่อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ในปัจจุบันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมกุ้งโลก ไม่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ส่งผลกระทบทั่วโลกทั้งประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้า จึงหวังว่าทุกภาคส่วนจะเรียนรู้และปรับตัว เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน