นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่ากรณีที่มีสื่อ online กล่าวหา กรณีเนื่องจากมีกลุ่มบุคคลและนิติบุคคลปลอมเอกสารราชการ ของกรมปศุสัตว์ในการส่งออกตีนไก่ไปจีน จนถูกตีกลับมายังประเทศไทย และได้อ้างว่ากรมปศุสัตว์มีส่วนรู้เห็นกับผู้ประกอบการ ในการสวมสิทธิ์การส่งออกชิ้นส่วนไปยังประเทศจีน นั้น กรมปศุสัตว์ขอยืนยันและมีความมั่นใจในการควบคุม กำกับ ดูแล กระบวนการผลิตตั้งแต่การฆ่า ชำแหละ ตัดแต่ง การขนส่ง จนกระทั่งการออกหนังสือรับรองสุขอนามัย (Health Certificate)
โดยมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ตรวจสอบตลอดห่วงโซ่การผลิตสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนและเป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า สำหรับประเทศจีน กรมปศุสัตว์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพิธีสาร (MOU) ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน ดังนั้นการสวมสิทธิ์การส่งออกไม่สามารถกระทำได้
โฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการปลอมแปลงเอกสารการส่งออกและ ตีกลับมานั้น เมื่อกรมปศุสัตว์ทราบเบาะแสจากข่าวดังกล่าวจึงได้แจ้งไปยังด่านกักกันสัตว์เพื่อประสานไปยังด่านศุลกากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามและขอข้อมูลเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารการส่งออก เพื่อนำมาตรวจสอบ โดยหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินการลงโทษตามระเบียบราชการอย่างเด็ดขาด และจะให้ความร่วมมือกับ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า ระยะเวลา 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดการส่งออกชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศจีนมีความสนใจในคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ มีระบบการกำกับ ดูแล ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐของประเทศไทยที่ดี โดยทางประเทศจีนให้การรับรองโรงงานผลิตชิ้นส่วนสัตว์ปีกเพิ่มขึ้น ทุกปี ปัจจุบันที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากประเทศจีนมี 23 แห่ง มูลค่าการส่งออกมากกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี
ล่าสุดทางประเทศจีน เห็นชอบให้มีการขยายรายการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกเพื่อการบริโภค (รวมถึงอวัยวะภายใน) ได้รับอนุญาตให้ส่งออกจากประเทศไทยไปประเทศจีน อีกจำนวน 18 รายการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการลงนามความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างไทย – จีน ในประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนสัตว์ปีกเพิ่มเติมมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดการส่งออกชิ้นส่วนสัตว์ปีกไปยังประเทศจีนจะเติบโตขึ้นทุกปี นอกจากนี้ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาอุปสรรคใดๆในด้านการตลาดกับประเทศจีนแต่อย่างใด