หลายพื้นที่ตอนบนฝนลดลง กรมชลประทาน ย้ำเร่งเก็บกักน้ำก่อนหมดฝน พร้อมเตือนภาคใต้เตรียมรับฤดูฝนต่อ

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (24 ต.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 59,899 ล้าน ลบ.ม. (78% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)  เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 17,147 ล้าน ลบ.ม. (69% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)  ด้านภาพรวมสถานการณ์น้ำทางตอนบน มีแนวโน้มเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทาน  ได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนลดลง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า  พร้อมผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในบึงบอระเพ็ดและพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่จะไหลลงสู้พื้นที่ตอนล่างและเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า  ทำให้ปัจจุบัน(24 ต.ค. 66) สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,931 ลบ.ม./วินาที   ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,650 ลบ.ม./วินาที   ส่วนพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้พิจารณารับน้ำเข้าระบบชลประทานและคลองสาขาต่างๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ เพื่อให้การระบายน้ำจากทางตอนบนลงสู่ตอนล่างทำได้เร็วยิ่งขึ้น

สำหรับลุ่มน้ำชี-มูล ปริมาณฝนที่ลดลง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย โดยที่สถานีวัดน้ำแม่น้ำมูล M7. บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี  มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,488 ลบ.ม./วินาที  แนวโน้มลดลง  ส่งผลให้น้ำที่ท่วมขังบริเวณชุมนุมท่าก่อไผ่ อ.วารินชำราบ ลดลงตามไปด้วย ปัจจุบันสามารถใช้เส้นทางสัญจรได้แล้ว  แต่ยังคงเหลือน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่  กรมชลประทาน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ส่วนพื้นที่ภาคใต้  ที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน  ขอให้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อนำมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์  พร้อมปฏิบัติตาม 12 มาตราการรับมือฤดูฝนปี 66  อย่างเคร่งครัด  จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ เจ้าหน้าที่ ประจำสุดเสี่ยง ให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำได้อย่างทันที  รวมทั้งหมั่นตรวจสอบและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้  ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ  บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึง  เวลา ปริมาณน้ำในพื้นที่  ปริมาณน้ำจากทางเหนือ  ปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำหนุน   พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การรับส่งน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดให้ได้มากที่สุด รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำ และให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด