ครั้งแรก! วช. – สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โชว์จัดเต็มเหนือน่านฟ้าริมน้ำโขง โดรนแปรอักษร 500 ลำ ในงานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ปี 66

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำโดรน จำนวน 500 ลำ แปรอักษร ร่วมในพิธีงานประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม และงานกาชาดจังหวัดนครพนม ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-30 ตุลาคม 2566 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถ ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม สำหรับการแสดงบินโดรนแปรอักษร จะทำการแสดงตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2566 นี้ ที่บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

นอกจากการนำโดรนแปรอักษรมาโชว์ในครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ร่วมในพิธีเปิด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรน” ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดการบินโดรนแปรอักษร โดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เป็นหัวหน้าโครงการฯ พร้อมนี้ นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายทนงชัย เจริญรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม นายชยพัทธ์ มะแม้น ผู้อำนวยการ (กสทช.) เขต 25 นายเนติชนม์ ยศแผ่น พนักงานกองกำกับมาตรฐานและการจราจรระบบอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมในพิธีเปิดการอบรมฯ ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคนครพนม (วิทยาลัยสารพัดช่างนครพนมเดิม) จังหวัดนครพนม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรน เพื่อการใช้ประโยชน์ ได้ประสบผลสำเร็จ ในการพัฒนาคิดค้นซอฟต์แวร์ดังกล่าว และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับนานาชาติ อีกด้วย

นายทนงชัย เจริญรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนมมีเป้าหมายพัฒนาจังหวัดให้เป็นเมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีประเด็นการพัฒนาคุณภาพทางการท่องเที่ยวและการบริการให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสามที่สุดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาทิ ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด “พระธาตุพนม” สวยที่สุด “สะพานมิตรภาพ 3” และ งามที่สุด “ทิวทัศน์ริมฝั่งโขง” ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของจังหวัดนครพนมที่มีลักษณะเป็นเมืองชายแดนติดริมฝั่งโขง สามารถมองเห็นแนวทิวเขาเหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนหย่อนใจ รวมไปถึงการประกอบธุรกิจและการบริการในพื้นที่ ดังนั้นการอบรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา ประชาชนและบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนมเป็นอย่างมาก

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. จัดโครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรน” (Drone) ให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ ตลอดทั้งเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดประยุกต์ใช้กับการทำงานในสาขาภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ในจังหวัดต้นแบบ 4 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคนครพนม – วิทยาลัยสารพัดช่างนครพนมเดิม จังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ 20 – 22 ตุลาคม 2566 โดยผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้แนวทางการนำโดรนไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว และการนำโดรนไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” มีกำหนดจัดขึ้นใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประเพณีที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ที่ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ