ศธ.-สอวน.ประกาศ​ไทยพร้อมเป็น​เจ้าภาพ​จัดประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ฯ เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี

กระทรวงศึกษาธิการ 19 ตุลาคม 2566 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “การประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ในฐานะที่ UNESCO ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่​ UNESCO​ ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม และร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณของพระองค์ ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบวันประสูติ 100 พรรษา รัฐบาล​ไทยจึงได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิ สอวน. จัดการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 International Conference on Mathematics and Science Education in the Post COVID-19 Era: Global Issues Awareness ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566

“​ถือเป็นการประกาศศักยภาพของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพงานนานาชาติ ที่ระดมสมองของบุคลากรชั้นแนวหน้า ทั้งนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาชั้นนำของโลก โดยมีผู้ร่วมงานในประเทศและจากนานาประเทศจำนวน 500 คน เพื่อร่วมกัน​หาแนวทางเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มคุณภาพการศึกษาให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรค สู่การพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม พระราชทานปาฐกถาพิเศษ ทรงร่วมรับฟังการบรรยายระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2566 และทอดพระเนตรนิทรรศการทางวิชาการ” รมว.ศ​ธ.​ กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สอวน. กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบของโควิด19 ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนต่อการเรียนการสอนทั่วโลก แม้จะใช้การเรียนการสอนออนไลน์ทดแทนการสอนแบบเผชิญหน้า แต่ก็ยังมีช่องว่างในการสร้างคุณภาพการเรียนรู้ เนื่องจากวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นฐานความรู้ในการสร้างคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนอนาคต งานนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่ดึงดูดนักคิด นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า ร่วมพิจารณาปัญหาการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษาที่นานาประเทศต้องเผชิญ หาแนวทางต่อยอดพัฒนาหลังการระบาดของโรค ซึ่งภายในงานมีการบรรยายงานวิจัยแนวหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาเข้าสู่ยุคดิจิทัล

Ms.Soohyun Kim​ ผอ.สำนักงานยูเนสโก ประจำกรุงเทพฯ กล่าวเพิ่มเติม​ว่า​ การประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้เป็นการเชิดชูพระกรุณาธิคุณของพระองค์​ในด้านการศึกษา โดยเฉพาะสาขา STEM ทั้งยังเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจผลกระทบของ​การเปลี่ยนแปลง​ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยใช้ความรู้ด้าน STEM เพื่อเอาชนะความท้าทายหลังสถานการณ์โควิด 19 ร่วมจัดสรรการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เยาวชนของเรา เพื่อความเจริญรุ่งเรือง ความอยู่ดีมีสุข สันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับกำหนดการประชุมฯ ในวันที่ 30-31 ตุลาคม 2566 เป็นการสัมมนาแบบพบหน้า (On-site) ณ ห้อง 208 – 209 ชั้น 2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ประกอบด้วย

– พิธีเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยผู้ร่วมปาฐกถา Ms.Soohyun Kim ผอ.สํานักงาน UNESCO ประจํากรุงเทพฯ

Plenary lectures โดย Professor Ada Yonath (สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มาน อิสราเอล) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2009, Professor Drew Weissman (มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา) นักวิทยาศาสตร์รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2023 และ Professor Sir Tom Blundell (มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร)

Invited lectures โดย นักวิทยาศาสตร์นักคณิตศาสตร์และนักการศึกษาชั้นนำ ได้แก่ Professor Manjula Sharma (มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย), Professor Masami Isoda (มหาวิทยาลัยซุคุบะ ญี่ปุ่น), Professor Young-Hoon Kim (มหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งชาติเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี), รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย), ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ (บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จํากัด ประเทศไทย) และนางสาวกล่อมจิต ดอนภิรมย์ (โรงเรียนกมลาไสย ประเทศไทย)

ในส่วนของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นการประชุมปฏิบัติการแบบพบหน้า (On-site) ณ ห้อง 208 – 209 ชั้น 2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์การประชุม http://imsed.ipst.ac.th/ หรือเฟซบุค https://www.facebook.com/imsed2023