วันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 38/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ชี้กรณีตำรวจและบุคลากรทางการศึกษาขัดขวางและคุกคามการชุมนุมโดยสงบของเด็ก เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะใช้ความระมัดระวังในการจับกุม
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จากผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการชุมนุมที่ส่วนใหญ่มีเด็กเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก เมื่อปี 2563 – 2564 ได้มีเด็กบางส่วนแสดงออกถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตนเองทั้งในโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคลากรทางการศึกษาข่มขู่ คุกคาม ใช้ความรุนแรง รวมทั้งใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อปราบปรามการแสดงออกของเด็ก ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดความกังวลและความหวาดกลัวต่อเด็กที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพของตน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม พิจารณาหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนข้อเท็จจริงจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคลากรทางการศึกษาได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม หรือไม่ โดยเห็นว่าอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) กำหนดว่า เด็ก หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี การกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็กนั้น ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก เด็กมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีในทุก ๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อตนเอง ทั้งยังมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ และจะไม่ถูกแทรกแซงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในความเป็นอยู่ส่วนตัว ครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ในการจับกุม กักขัง หรือจำคุกเด็กต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายและให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุด โดยต้องถูกแยกและได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ใหญ่
ขณะที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ประกอบกับพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้กำหนดหลักการที่สอดคล้องกันกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยกำหนดห้ามไม่ให้จับกุมเด็ก (ผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี) ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคำสั่งของศาล ส่วนการจับกุมเยาวชน (ผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปจนถึง 18 ปี) ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งในการจับกุมเด็กต้องกระทำอย่างละมุนละม่อมและคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก โดยเด็กต้องได้รับแจ้งการจับ ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา รวมทั้งสิทธิตามกฎหมายด้วย
จากการตรวจสอบ กสม. มีความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม สรุปได้ดังนี้
(1) ประเด็นการจับกุมเด็ก ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในช่วงที่เด็กออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างแพร่หลายในพื้นที่สาธารณะ ระหว่างปี 2563 – 2564 พบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมเด็กด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุเป็นจำนวนมาก บางรายไม่ได้รับการแจ้งสิทธิระหว่างจับกุม พบการรัดข้อมือเด็กด้วยสายรัดพลาสติกระหว่างควบคุมตัว และโดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการตรวจสอบว่าผู้ถูกจับกุมเป็นบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีหรือไม่ ทำให้เด็กถูกควบคุมตัวรวมกับผู้ถูกจับกุมที่เป็นผู้ใหญ่ อันเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และ “หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและกติการะหว่างประเทศ
(2) ประเด็นการดำเนินคดีอาญาต่อเด็ก นับตั้งแต่ ปี 2563 ถึงต้นปี 2566 มีเด็กประมาณ 300 คน ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม โดยเด็กบางรายถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายคดี ฐานความผิดส่วนใหญ่มีโทษจำคุก ในจำนวนนี้มีหลายฐานความผิดที่กำหนดโทษไว้สูง และประมาณสามในสี่ของคดีทั้งหมดเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548) ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ดังนั้น คดีที่ยังคงค้างอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีชั้นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตํารวจ และพนักงานอัยการ หรือการพิจารณาคดีของศาล จึงอาจไม่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการต่อไปอีก
รวมทั้งหากพิจารณาชั่งน้ำหนักอย่างถี่ถ้วนเพื่อประเมินผลประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการดําเนินคดีต่อเด็กกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กหากปล่อยให้เด็กที่ถูกดําเนินคดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไปจนจบสิ้นกระบวนการทุกรายแล้ว ก็อาจเล็งเห็นได้ว่าจะไม่เกิดผลดีกับเด็กมากนัก และอาจเป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับ “หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ตามที่กําหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
(3) ประเด็นการข่มขู่คุกคามเด็ก จากการตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ปรากฏพฤติการณ์ของบุคลากรทางการศึกษามากกว่า 100 กรณี แสดงออกในลักษณะของการสั่งห้าม ขัดขวาง ตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรง ยึดอุปกรณ์และสิ่งของ หรืออนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอดส่องและกดดันนักเรียนภายในโรงเรียน เพื่อไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองหรือเรียกร้องต่าง ๆ ส่วนกรณีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการเข้าไปถ่ายภาพนักเรียนที่จัดกิจกรรมในสถานศึกษา มีการกดดันผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงครอบครัวของนักเรียนไม่ให้จัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมและการชุมนุม รวมทั้งมีการเฝ้าติดตามเด็กที่เคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับหน้าที่พื้นฐานของรัฐที่จะต้องละเว้นไม่เข้าไปแทรกแซงการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบโดยไม่มีเหตุจำเป็น ทั้งยังกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของเด็ก จึงรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ สภาผู้แทนราษฎร กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สรุปดังนี้
(1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดำเนินการกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความระมัดระวังในการใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุม โดยต้องตรวจสอบก่อนว่าผู้ที่กำลังจะจับกุมเป็นบุคคลที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปีหรือไม่ หากเป็นการจับกุมเด็กและเยาวชนจะต้องกระทำโดยละมุนละม่อม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพอสมควรแก่เหตุกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับ โดยต้องแจ้งให้ผู้ปกครองหรือผู้ที่เด็กและเยาวชนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมตัวทันที งดเว้นการใช้เครื่องพันธนาการกับเด็กและเยาวชนทั้งในขณะที่จับกุมและระหว่างควบคุมตัว แยกพื้นที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาเด็กไม่ให้ปะปนกับผู้ใหญ่ งดเว้นการเข้าไปติดตาม สอดส่อง หรือรบกวนพื้นที่ชีวิตส่วนตัวเกินกว่าเหตุโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ รวมทั้งเร่งรัดการสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงานอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กและเยาวชนในการชุมนุมระหว่างปี 2563-2564 หากพบว่าเจ้าหน้าที่ตํารวจผู้ใดกระทําการดังกล่าว ก็ให้ดําเนินการลงโทษตามสัดส่วนของความรับผิดเพื่อป้องปรามเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด
(2) กระทรวงศึกษาธิการ ทบทวนและเพิ่มเติมมาตรการกำกับดูแลสถานศึกษาในสังกัดเพื่อสร้างหลักประกันไม่ให้เกิดกรณีการข่มขู่ คุกคาม หรือลงโทษนักเรียนที่เข้าร่วมการชุมนุมหรือแสดงออกถึงประเด็นปัญหาต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ
(3) สภาผู้แทนราษฎร ควรเร่งดำเนินการศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริงในรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี เพื่อให้เกิดการตรากฎหมายยุติการดำเนินคดีต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งการนิรโทษกรรมให้แก่เด็กและเยาวชนที่ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมาย ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อให้การปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นภาระต่อเด็กเกินสมควร
ทั้งนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ กสม. ได้เสนอไว้จากการประชุมเพื่อแสวงหาทางออกกรณีสิทธิเด็กกับสถานการณ์การชุมนุม และการลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมแต่ละครั้งเพื่อสอดส่องดูแล และร่วมกันวางแนวปฏิบัติต่อเด็กในพื้นที่การชุมนุมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับกฎหมายและหลักสากล
2. กสม. ชี้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง แนะจัดสรรที่ดินโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดเงื่อนไขการถือครอง
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้แทนประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ระบุว่า ผู้ร้องและกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง กว่า 1,100 ราย ตั้งถิ่นฐานในตำบลวังบาล และตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ (บริเวณภูทับเบิก) เดิมประกอบอาชีพทำไร่ฝิ่น ต่อมาเมื่อปี 2502 หลังจากรัฐบาลยกเลิกการขายฝิ่นและห้ามมิให้เสพฝิ่น จึงมีนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2502 และมติ ครม. อีกหลายฉบับให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาและสนับสนุนให้ประกอบอาชีพอื่น โดยกันพื้นที่สำหรับจัดตั้งนิคมบริเวณป่าหมายเลข 22 และจัดทำแผนที่เรียบร้อยแล้ว แต่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเดิมคือกรมประชาสงเคราะห์ (ผู้ถูกร้องที่ 1) และศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเพชรบูรณ์ (ผู้ถูกร้องที่ 2) กลับไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย พิจารณาหลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าหน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ โดยแยกพิจารณาได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การไม่จัดตั้งนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาบริเวณภูทับเบิก เห็นว่า เดิมภูทับเบิกเป็นพื้นที่เป้าหมายที่รัฐใช้จูงใจให้กลุ่มชาติพันธุ์ม้งเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2502 โดยให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลือกภูเขาที่เหมาะสมและจัดตั้งนิคมสร้างตนเองและชักชวนชาวเขาให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำพืชไร่เป็นกลุ่มก้อน โดยนโยบายดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์หลักที่จะจัดที่ดินให้เป็นสิทธิแก่ชาวเขา แต่เป็นแนวคิดที่จะให้สัมปทานพื้นที่บนภูเขาทั้งลูกแบบระยะยาว (50 ปี) กับเอกชนที่เป็นนายทุนเจ้าของธุรกิจที่ชักชวนชาวเขาเข้ามาอยู่รวมกันและให้บริการเพื่อให้ชาวเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฏว่ามีการให้สัมปทานกับนายทุนตามแนวคิดดังกล่าว
แม้ต่อมา ครม. จะมีมติเมื่อปี 2505 และปี 2509 ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 (กรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น) จัดตั้งนิคมสงเคราะห์ชาวเขา ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย แต่หน่วยงานไม่สามารถจัดตั้งนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาบริเวณภูทับเบิกได้ เนื่องจากปัญหาการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ และสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจะจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 มีป่าไม้และภูเขาสูง มีฝนตกหนาแน่น จึงไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเสนอ ครม. ให้พิจารณายกเลิกมติ ครม. ดังกล่าว ซึ่ง ครม. ได้มีมติเมื่อปี 2545 ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 คืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้รับไปดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนแทน
กสม. เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองบริเวณภูทับเบิก ไม่ได้ก่อให้เกิดการโอน สงวน เปลี่ยนแปลง หรือระงับซึ่งสิทธิแก่ประชาชน เป็นแต่เพียงนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน ที่หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองต้องปฏิบัติตาม แต่เมื่อไม่สามารถปฏิบัติตามและได้เสนอให้ ครม. มีมติใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงมติเดิมแล้ว มติเดิมย่อมสิ้นผลไป ดังนั้น การที่หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองไม่จัดตั้งนิคมสงเคราะห์ชาวเขาจึงไม่เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง กรณีจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนชาติพันธุ์ม้ง จังหวัดเพชรบูรณ์ จากการตรวจสอบปรากฏว่า ในการคืนพื้นที่บริเวณภูทับเบิกให้กรมป่าไม้รับไปดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนแทนนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ขอกันพื้นที่บางส่วนรวมกว่า 47,000 ไร่ ไว้ เพื่อใช้ในการพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา และนำไปจัดสรรให้ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ใช้ประโยชน์ โดยได้จัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560 – 2565 แต่แผนแม่บทกลับไม่ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งทั้งหมด นอกจากนี้การคืนพื้นที่บางส่วนส่งผลให้พื้นที่หมู่บ้านเดียวกันถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน กล่าวคือ ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งหน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองมีโครงการพัฒนาตามแผนแม่บท และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้
กสม. เห็นว่า การจัดทำแผนแม่บทที่ไม่ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นผลให้ชุมชนม้งถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีนโยบายในการบริหารจัดการพื้นที่แตกต่างกัน เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีวิถีวัฒนธรรมและเป็นชุมชนเดียวกันมาตั้งแต่ต้น อันส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน สิทธิชุมชน สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ และความมั่นคงในการถือครองที่ดิน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสอง คือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเพชรบูรณ์ร่วมกับกรมป่าไม้ และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จัดทำแผนบริหารจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืน และจัดที่ดินให้แก่ผู้ร้องและประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในตำบลวังบาลและตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามคำร้องนี้ ทั้งส่วนที่อยู่ในแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560 – 2565 และส่วนที่อยู่ในเขตป่า โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไขการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง กรมป่าไม้ และ คทช. ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ในการจัดที่ดินด้วย