วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และสำนักเครื่องจักรกล เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ
สำหรับสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้เพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งด้านฝั่งตะวันตกและตะวันออก พร้อมกับหน่วงน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้กระทบพื้นที่ด้านท้ายให้น้อยที่สุด
ส่วนสถานการณ์ลุ่มน้ำชี-มูล การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงยังคงทำได้ดี ปริมาณน้ำที่สถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งฝั่งอำเภอวารินชำราบ จะกลับเข้าสู่ตลิ่งประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง พิจารณาปรับการระบายน้ำและเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งผ่านความสมัครใจของเกษตรกรในพื้นที่แล้ว เพื่อเป็นน้ำต้นทุนในการทำการเกษตร ลดการใช้น้ำจากเขื่อน พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ ในปี 2566/67 อย่างรัดกุม เพื่อให้มีปริมาณน้ำอย่างเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งหน้า