พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ให้การต้อนรับนาง Anne-Marie Trevelyan รมช.กระทรวงการต่างประเทศ (ด้านอินโด-แปซิฟิก) เนื่องในโอกาสเยือนประเทศไทยและเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อหารือความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา พัฒนาต่อยอดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในอนาคต
17 ตุลาคม 2566 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รักษาราชการแทนปลัด ศธ., นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษา สป.ศธ., นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ., นายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม คณะทำงาน รมว.ศธ. หารือความร่วมมือด้านการศึกษากับ Mrs. Anne-Marie Trevelyan Minister of State (Indo-Pacific) พร้อมด้วย Mr. Mark Gooding OBE British Ambassador to Thailand และคณะจากสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ณ ห้องดำรงราชานุภาพ อาคารราชวัลลภ ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอบคุณที่ให้ความสำคัญและเข้ามาร่วมดูแลด้านการศึกษาของประเทศไทย นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เป็นนโยบายที่เน้นการจัดการ Platform พัฒนาเนื้อหาการเรียนให้ทันสมัยน่าสนใจ เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) หากนักเรียนมีความสุขก็จะสามารถทำกิจกรรมคู่กับการเรียนได้ดี ซึ่งภาษาอังกฤษถือเป็นเป็นภาษาสากลที่มีความสำคัญมาก และเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้ทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทยที่ยังมีเด็กด้อยโอกาส รวมถึงปัจจัยด้านงบประมาณในการดำเนินงาน หากทางสหราชอาณาจักรให้ความร่วมมือสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ก็จะช่วยสร้างโอกาสที่ดีกับผู้เรียนและผู้สอนให้อยู่บนความเสมอภาคในการเรียนรู้ยิ่งขึ้น รวมทั้งยินดีรับฟังข้อเสนอแนะด้านแนวคิดและแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนทั้งรูปแบบออนไลน์หรือรูปแบบเดิมที่จะกลับมาใช้ อยากให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ของสหราชอาณาจักรเรื่องการใช้ตำราเรียนในชั้นเรียน จะได้ต่อยอดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษยุคปัจจุบันได้
Mrs. Anne-Marie Trevelyan กล่าวว่า ยินดีแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติด้านการศึกษาของสหราชอาณาจักร โดยช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ซึ่งพบปัญหาหลายด้าน จึงได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งบริษัทผู้ผลิตทั้งด้านอุปกรณ์และ software ผู้ผลิตตำราเรียนในการถ่ายโอนข้อมูลจากหนังสือเรียนไปสู่ระบบออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาครูในการสอนแบบออนไลน์ ข้อดีคือในกรณีที่ขาดแคลนครูก็สามารถใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ได้ นอกจากนี้ทราบว่า รมว.ศธ.ให้ความสำคัญและผลักดันเรื่องการสอนภาษาอังกฤษ ในนามสหราชอาณาจักรยินดีที่จะให้การสนับสนุนพร้อมให้ความร่วมมือในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างเต็มความสามารถต่อไป
โอกาสนี้ได้หารือการดำเนินความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งลงนามเมื่อปี 2559 ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเพื่อจัดทำเอกสารแนบท้าย (Annex) รวมถึงด้านความร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ ที่ยังดำเนินการอยู่เกี่ยวกับการพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับครูภายใต้โครงการ ReBoot programme พร้อมทั้งรื้อฟื้นโครงการผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษ (English Teaching Assistant: ETA) และข้อริเริ่มเพื่อส่งเสริมการศึกษาข้ามชาติ (Transitional Education – TNE) อาชีวศึกษา ทุนการศึกษา ทางเลือกด้านการศึกษา รวมถึงการใช้เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ในการศึกษา เพื่อต่อยอดการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในชั้นเรียนต่อไป