นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงพื้นที่และให้การต้อนรับคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดพัทลุง ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมจัดนิทรรศการในประเด็น “การขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่จังหวัดพัทลุง สละ BCG Model” ณ ศูนย์เทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ภาคใต้ จะต้องวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญทั้ง 3 ด้าน คือ พื้นที่ คน และสินค้า โดยการพัฒนาภายใต้หลักการเศรษฐกิจองค์รวม BCG Model และต่อยอดการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ สร้างให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูง เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร และชุมชน ซึ่ง สละ เป็นพืชที่เหมาะสมหรับขับเคลื่อนเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงของจังหวัดพัทลุง ภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจาก สละเป็นพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ภาคใต้ เกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มพื้นที่การปลูกในอนาคต เนื่องจากผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องของตลาด และผลผลิตสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยมีพื้นที่ปลูก 3,514 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 2,735 ไร่ ราคาผลผลิตรวม 4,262 ตัน รวมมูลค่า 215.57 ล้านบาท มีตลาดและช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสตูล และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีการจำหน่ายหน้าสวน จำหน่ายทางออนไลน์ รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้า OTOP มีทั้งแบบผลสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สละลอยแก้ว แยมสละ สละทรงเครื่อง เป็นต้น
นางสุนิภา คีรีนารถ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม กรมส่งเสริมการเกษตร จะดำเนินการส่งเสริมด้วยการใช้ระบบการส่งเสริมการเกษตร (T&V System) โดยการถ่ายทอดความรู้ เยี่ยมเยียน สนับสนุน นิเทศงาน และการจัดการข้อมูล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่ตอบโจทย์การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ และหลักการ BCG Model โดยผ่านเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับเขต (Regional Workshop: RW) ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในระดับเขต จังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการ และหน่วยงานวิชาการในพื้นที่จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลการดำเนินงานระหว่างกัน และจะเชื่อมโยงการพัฒนาการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สู่สินค้า และเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายในการทำงานส่งเสริมการเกษตร อาทิ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ศูนย์จัดการ ดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) Smart Farmer / Young Smart Farmer และ เกษตรกรทั่วไป ซึ่งจะนำไปสู่การบูรณาการและเชื่อมโยงภารกิจต่างๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตรลงสู่พื้นที่เดียวกันอย่างเป็นระบบ และมุ่งบรรลุเป้าหมายเดียวกันต่อไป