กรมโยธาธิการและผังเมือง ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-Social Map)

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 08.00 น. กรมโยธาธิการและผังเมืองลุยโครงการขุดลอกคลองสาธารณะต่อเนื่องยาวไปถึงบริเวณสถานีสูบน้ำป่าตาล ตามแผนงานการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ในการนี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง มอบหมายให้ นายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ รักษาการในตำแหน่งสถาปนิกใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธาน พร้อมด้วย นางชนิตตา แสงพลบ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน ร่วมกิจกรรม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ไหลสะดวกมากยิ่งขึ้น ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ให้สามารถเก็บกักน้ำเพื่อรองรับน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อเป็นแหล่งอาหารแก่ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีข้อสั่งการให้กรมโยธาธิการ และผังเมืองร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง และจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) โดยจัดทำผังภูมิสังคมฯ และเน้นย้ำให้มีการนำแผนไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้กับพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ดำเนินการในรูปแบบของโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ ของกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่ 878 อำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ทั่วประเทศ 76 จังหวัด โดยให้แต่ละหน่วยงานนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดโครงการและกิจกรรม

เพื่อให้เกิดการพัฒนาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้กับประชาชน พัฒนาเครือข่ายการทำงานแบบบูรณาการของผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน และภาคีเครือข่าย ผังภูมิสังคมฯ เป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและสังคมวิทยา จัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาโดยยึดหลักผังภูมิสังคมนี้ คือหลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปแนะนำ อธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดว่าต้องการอะไรจริง ๆ และเขียนบันทึกลงในผังภูมิสังคม เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้วางแผนงานโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืน เนี่องจากเป็นโครงการและกิจกรรมที่ตนมีส่วนร่วม และได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

นายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ รักษาการในตำแหน่งสถาปนิกใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กล่าวถึงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-Social Map) ได้มอบนโยบายให้ส่วนราชการ มีการวางแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นแบบแผนเดียวกัน (ONE PLAN) ได้ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคม ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน ครบทั้ง 126 ตำบล 11 อำเภอแล้วเสร็จ และผ่านการประชุมคณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ระดับจังหวัด จำแนกประเภทและขนาดโครงการ ออกมาเป็นขนาด S,M,L และ XL และจากการเสนอชี้เป้าโครงการ/กิจกรรม ขนาด S ที่จะดำเนินการเป็นโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนตามผังภูมิสังคม จังหวัดได้พิจารณาให้ตำบลป่าตาล อำเภอเมือง ดำเนินการในรูปแบบการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการนำแผนไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

โดยวันนี้ได้ดำเนินการโครงการขุดลอกคลองสาธารณะต่อเนื่องยาวไปถึงบริเวณสถานีสูบน้ำป่าตาล เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ จากการดำเนินการบูรณาการร่วมกันของภาคีเครือข่าย ได้แก่ ชลประทานจังหวัดลพบุรี แขวงทางหลวงลพบุรีที่ 1 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลพบุรี สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลพบุรี คณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ คณะทำงานจัดทำผังภูมิสังคมฯ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรกลจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนแบบไม่ใช้งบประมาณ มีรถแบ็คโฮ จำนวน 5 คัน สนับสนุนโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี จำนวน 1 คัน แขวงทางหลวงลพบุรีที่ 1 จำนวน 1 คัน สำนักชลประทานที่ 10 จำนวน 1 คัน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลพบุรีจำนวน 1 คัน และภาคเอกชน จำนวน 1 คัน

ทั้งนี้ จังหวัดลพบุรี ได้มีการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ โครงการขนาด S ในการกำจัดผักตบชวา และวัชพืชในลำรางสาธารณะ และลำคลอง สามารถจัดเก็บและกำจัดวัชพืชต่าง ๆ ในแหล่งน้ำสาธารณะได้ปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่า 35 ตัน ประชาชนภายในจังหวัดลพบุรี ได้รับประโยชน์จากโครงการฯในครั้งนี้ มากถึง 6,591 ครัวเรือน

หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่สามารถนำน้ำจากคลองสาธารณะไปใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำของพื้นที่ ฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อเป็นแหล่งอาหารแก่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต รองรับการประกอบกิจกรรมของชุมชน รวมถึงส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นการร่วมมือกันดำเนินโครงการตามนโยบายการจัดทำผังภูมิสังคม ฯ แบบการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการนำร่อง เป็นต้นแบบ และตัวอย่างที่ดีให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป