ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประมา ศาสตระรุจิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (สบทศ.) หรือ UniNet เปิดเผยถึงการพัฒนาศักยภาพของระบบและปรับปรุงโครงข่ายในปีงบประมาณ 2567 เพื่อรองรับการใช้งานที่รวดเร็ว ปลอดภัย ทันสมัย ภายใต้ระบบมาตรฐานสากล ISO ว่า UniNet ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2566 เพื่อจัดหาระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครือข่าย ตามวงรอบของการปรับเปลี่ยน ภายใต้โครงการพัฒนา “เครือข่ายการศึกษาชาติ หรือ NEdNet” ระยะที่ 5 โดยจัดหาอุปกรณ์ด้านไอทีเพื่อทดแทนของเดิม ที่หมดอายุการใช้งานไม่สามารถรองรับเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งถูกต้องตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการจัดหาครุภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ UniNet ได้จัดส่งวิศวกรคอมพิวเตอร์ ช่างเทคนิคและเจ้าหน้าที่ ออกเดินสายปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และปรับปรุงวัสดุครุภัณฑ์ของโครงข่ายทดแทนอุปกรณ์เดิม ตามแผนการจัดหาอุปกรณ์ทดแทน อุปกรณ์ที่หมดอายุ อุปกรณ์ที่เทคโนโลยีล้าสมัย หรืออุปกรณ์ที่ผู้ประกอบการยุติการผลิต
UniNet พัฒนาโครงข่ายเพื่อการศึกษาวิจัยด้วยเครือข่ายแกนหลักและเครือข่ายกระจาย ซึ่งจะครอบคลุมและรองรับการเชื่อมโยงไปยังสถาบันการศึกษาทั้งระบบ โครงข่ายการสื่อสารความเร็วสูงที่ถูกออกแบบไว้ใช้งาน มี 5 ระดับคือ
1. โหนดอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายนอก ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ
2. โหนดติดตั้งอุปกรณ์เลือกเส้นทางอัตโนมัติขนาดใหญ่ มี 6 จุดที่เชื่อมต่อออกต่างประเทศได้คือ พญาไท (สนง.UniNet สป.อว.) บางเขน (ม.เกษตรศาสตร์) ศาลายา (ม.มหิดล) อยุธยา สุพรรณบุรี และนครราชสีมา
3. โหนดที่ติดตั้งอุปกรณ์รวมสัญญาณปริมาณมาก เชื่อมต่อกับ 6 จุดใหญ่และกระจายสัญญาณ
4. โหนดติดตั้งอุปกรณ์เลือกเส้นทางขนาดกลาง ให้บริการเครือข่าย รวบรวมการใช้งานของเครือข่ายในแต่ละจังหวัด/พื้นที่
และ 5. โหนดปลายทางที่ให้บริการและเชื่อมต่อกับสมาชิกเครือข่าย โดยปัจจุบันความเร็วในการสื่อสารของเครือข่าย UniNet มีมากถึง 100 GBps
UniNet จะบำรุงรักษาอุปกรณ์ของโครงการทุกปี รวมถึงปรับเปลี่ยนตามอายุการใช้งานคือประมาณ 8 ปี ค่าบำรุงรักษาได้รับจากเงินงบประมาณโดยมีแผนปรับเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์หลังจากอุปกรณ์หมดอายุ ด้วยการจัดหาอุปกรณ์ทดแทนอุปกรณ์ที่หมดอายุ อุปกรณ์ที่เทคโนโลยีล้าสมัย หรืออุปกรณ์ที่ผู้ประกอบการยุติการผลิต ด้วยการจัดซื้อครุภัณฑ์และวัสดุเชื่อมต่อที่ทันสมัยที่สุดทดแทนอุปกรณ์เดิมตามระเบียบพัสดุและจัดทำแผนการทดแทนอุปกรณ์เดิมที่ต้องปรับปรุงใหม่ เพื่อเชื่อมต่อการใช้งานในจังหวัดพื้นที่ รวมทั้งสิ้น กว่า 10 โหนด 15 เส้นทาง และในปีงบประมาณ 2567 มีแผนที่จะปรับปรุงทดแทนอุปกรณ์อีก 146 เส้นทาง ซึ่งจะเริ่มจะดำเนินการปรับเปลี่ยนเชื่อมต่อ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566)
การให้บริการเพื่อการศึกษา ปัจจุบัน UniNet บริหารจัดการ “เครือข่ายการศึกษาชาติ หรือ NEdNet” เพื่อรองรับการรับส่งข้อมูลให้บริการกับสถาบันการศึกษา/วิทยาเขต/ศูนย์/หน่วยวิจัย/หน่วยงานด้านสาธารณสุข ไม่น้อยกว่า 10,761 แห่ง ด้วยช่องการสื่อสารขนาดความเร็วไม่น้อยกว่า 1000 Mbps โดยการปรับปรุงอุปกรณ์ครั้งนี้จะเลือกระบบเส้นทางอัตโนมัติขนาดกลาง ซึ่งรองรับการใช้งานด้านการเรียนการสอน การวิจัยด้านการศึกษา การสืบค้นจากฐานข้อมูลในประเทศและข้ามประเทศของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด อว. 223 แห่ง หน่วยงานวิจัยหลักของประเทศ 5 แห่ง สถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับชั้น สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า และมีส่วนราชการ/หน่วยงาน/รัฐวิสาหกิจ/องค์การมหาชน ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อีกจำนวน 5 แห่ง ที่ต้องใช้งานบนเครือข่าย UniNet อีกด้วย
การให้บริการศึกษาวิจัย เครือข่าย UniNet ใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายความเร็วสูงสนับสนุนการรับ ส่ง สืบค้น บันทึก ประมวลผล จัดเก็บข้อมูลเพื่อโครงการวิจัยระดับสูงของประเทศ ในกลุ่มฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูง กลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิทยาการและวิศวกรรมเชิงคำนวณ กลุ่มวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ การดำเนินการตามความร่วมมือด้านวิชาการ วิจัยและการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นช่องทางในการส่งข้อมูลภาพถ่ายของดาวเทียมสำรวจโลก THEOS ของ GISTDA
“เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก UniNet ต้องก้าวให้ทัน เพื่อรักษาระดับความเป็นเลิศในการให้บริการ เพื่อให้หน่วยงาน 10,000 กว่าแห่งได้ใช้ทรัพยากรของประเทศร่วมกันอย่างคุ้มค่า และได้ร่วมกันทำให้สิ่งที่รัฐลงทุนไปแล้วเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อระบบการศึกษาไทยและสังคมโดยรวมของประเทศ” ผู้อำนวยการ UniNet กล่าวในตอนท้าย