กรมชลประทาน ใช้ระบบชลประทานเร่งระบายน้ำ “เจ้าพระยาลงอ่าวไทย” ลดผลกระทบน้ำหลาก

กรมชลประทาน  เร่งระบายน้ำเหนือลงสู่ทะเลอ่าวไทย ลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งนอกคันกั้นน้ำ หวังบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจุบัน วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,795 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที ก่อนจะไหลไปสมทบกับปริมาณน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง และไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ตามลำดับ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 423 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 1,540 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำท่าไหลหลากเพิ่มขึ้นอีกระลอก จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำเหนือในระยะต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ทำการตัดยอดน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก โดยการผันน้ำบางส่วนออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) พระนารายณ์ ลงสู่คลองระพีพัฒน์ คลอง 13 และคลองพระองค์ไชยานุชิตเพื่อเร่งสูบระบายลงอ่าวไทย พร้อมทั้งตัดยอดน้ำบางส่วนออกทางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต และคลองสำโรง ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Hydro Flow เพิ่มเติมอีก จำนวน 7 เครื่อง บริเวณ ปตร.ปลายคลอง 20 ปตร.ปลายคลอง 19 ปตร.บางขนาก และ ปตร.ท่าถั่ว เพื่อเร่งสูบน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก และลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และอ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครได้อีกด้วย