วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร จับเข่าพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกร รับฟังปัญหา อุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(ฝายวังบัว) โดยมี นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 นายจักรพันธ์ จารุวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีระดับน้ำสูงขึ้น จนทำให้ฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(ฝายวังบัว)ที่ถูกน้ำกัดเซาะชำรุดเสียหาย เบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 4 ตรวจสอบความมั่นคงของตัวฝาย และซ่อมแซมแก้ไขในส่วนที่ชำรุดโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ และเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแนวทางในการซ่อมแซมและปรับปรุงฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(วังบัว) ดังนี้
📍ระยะเร่งด่วน : เร่งดำเนินการซ่อมแซมฝายที่ชำรุด (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2566)
📍ระยะปานกลาง : ปรับปรุงฝายให้มีความมั่นคงแข็งแรง (ปี พ.ศ. 2568-2569)
📍ระยะยาว : ดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำวังบัว ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) (ปี พ.ศ. 2567-2569) สำรวจ-ออกแบบ (ปี พ.ศ. 2570) แผนงานก่อสร้าง (ปี พ.ศ. 2571-2573)
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานซ่อมแซมฝายให้มีความมั่นคงแข็งแรง กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และประชาชนในพื้นที่ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน