นายกฯ ห่วงพี่น้องชาวอุบลฯ สั่งทุกหน่วยงานช่วยเหลือเร่งด่วน

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชน โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ พร้อมสรุปสถานการณ์น้ำและแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบัน (6 ต.ค. 66) ที่สถานีวัดน้ำ (แม่น้ำมูล) M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานเล็กน้อย มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,686.00 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มทรงตัว

กรมชลประทาน  ได้ใช้อาคารชลประทานทางตอนบนของลุ่มน้ำชี (เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง) และแม่น้ำมูล (เขื่อนราษีไศล) เพื่อหน่วงน้ำและผันเข้าระบบชลประทาน นำไปเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า พร้อมเร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงในอัตราประมาณ 3,406 ลบ.ม./วินาที  ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าระดับแม่น้ำมูลประมาณ 2 เมตร ทำให้การระบายน้ำยังคงทำได้ดี

ด้านสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และลำเซบก ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ดอนมดแดง อ. ตระการพืชผล อ. ม่วงสามสิบ อ.วารินชำราบ และอ.เขื่องใน กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว บริเวณประตูระบายน้ำวัดเสนาวงศ์ ชุมชนท่าบ่งมั่ง อ.วารินชำราบ จำนวน 2 เครื่อง  และบริเวณประตูระบายน้ำท่ากอไผ่ ชุมชนท่ากอไผ่ อ.วารินชำราบ จำนวน 2 เครื่อง รวมทั้ง ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเสริมแนวกระสอบทรายกว่า 10,000 ใบ  นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 100 เครื่อง ไว้ที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วยิ่งขึ้น

ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหนทางในการบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนต่อไป