รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย กรมอุตุนิยมวิทยาคาดไทยไม่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจากมรสุมพาดผ่าน เตือน 5 จังหวัดติดตามใกล้ชิด ทั้งกาฬสินธุ์จากเขื่อนเต็มความจุ อุบลราชธานี พิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ ที่ต้องรับน้ำ ย้ำเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม
วันที่ 6 ตุลาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” โดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า จะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 6-8 ตุลาคม 2566 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคกลาง ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคกลาง จึงยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่ม อย่างต่อเนื่อง ภาพรวมตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 6 ตุลาคม 2566 มีสถานการณ์สะสม 30 จังหวัด ผู้เสียชีวิตสะสม 16 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด 5 ลุ่มแม่น้ำ แต่แนวโน้มลดลงทั้งหมด ได้แก่ ตาก ลุ่มน้ำปิง, กาฬสินธุ์ ลุ่มน้ำชี, อุบลราชธานี ลุ่มน้ำมูล, สมุทรปราการ ลุ่มน้ำบางปะกง และนครปฐม ลุ่มน้ำท่าจีน โดยขณะนี้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ระดับจังหวัด ตามข้อสั่งการของกระทรวงสาธารณสุข 3 จังหวัด คือ ลำปาง อุบลราชธานี และสุโขทัย
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสม 15 แห่ง ได้แก่ ลำปาง 4 แห่ง, ร้อยเอ็ด 3 แห่ง, นครนายก 2 แห่ง, ตราด แม่ฮ่องสอน ระนอง เชียงราย กาฬสินธุ์ และแพร่ จังหวัดละ 1 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 2 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 12 แห่ง ขณะนี้เปิดให้บริการได้ตามปกติแล้ว 14 แห่ง เหลือปิดให้บริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านดอนยานาง จ.กาฬสินธุ์ ส่วนการดูแลประชาชน ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ SRRT 43 ทีม หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ/ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (CDCU/JIT) 16 ทีม และทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) 16 ทีม ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา และกาฬสินธุ์ ให้บริการเยี่ยมบ้าน 3,069 ครั้ง รับยา 3,233 ราย ให้บริการตรวจรักษา 1,208 ราย ให้ความรู้สุขศึกษา 4,167 ราย ผลการตรวจสุขภาพจิตส่วนใหญ่ปกติ มีความเครียด 156 ราย ขณะที่ส่วนกลางสนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ รวม 4,900 ชุด ได้แก่ พิษณุโลก 400 ชุด อุบลราชธานี 1,500 ชุด อุดรธานี 1,500 ชุด นครพนม ชุมพร และสตูล จังหวัดละ 500 ชุด
“จากการคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย มีจังหวัดที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คือ 1.กาฬสินธุ์ จากเขื่อนเต็มความจุ 2.อุบลราชธานี จากการรับน้ำมูลและชี และ 3.พิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ ที่รับน้ำจากสุโขทัย ทังนี้ ขอให้ทุกจังหวัดที่มีสถานการณ์ติดตามเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มาจากน้ำท่วม ซึ่งจากการตรวจรักษาพบว่า เป็นโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด 2,416 ราย โรคระบบผิวหนัง เช่น ผื่นคัน แพ้ 610 ราย และโรคระบบทางเดินหายใจ 430 ราย เป็นต้น รวมทั้งให้ปรับรูปแบบการจัดบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอย่างสะดวก และให้การดูแลสุขภาพกายและจิตใจประชาชนอย่างต่อเนื่อง” นพ.ชลน่านกล่าว