รมว.ยธ. เสนอ ครม.ดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอุ้มหายและเตรียมยื่นต่อสหประชาชาติ

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามเสนอ เรื่องการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced  Disappearance : ICPPED) หรือ อนุสัญญาอุ้มหาย พร้อมการจัดทำข้อสงวนต่อคณะรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากประเทศไทยโดยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้จัดทำพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว เป็นกฎหมายที่รองรับการดำเนินงานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ รวมทั้งได้กำหนดฐานความผิดและบทลงโทษกรณีการกระทำทรมาน การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอุ้มหาย อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ดังกล่าว จะเป็นการยืนยันเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธินุษยชน เฝ้าระวังและป้องกันการกระทำที่มิชอบโดยเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับประชาชนตามมาตรฐานสากล

สำหรับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced  Disappearance : ICPPED) ประกอบด้วย 45 ข้อบท โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในนามเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ (อุ้มหาย) ในทุกกรณี และกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาซึ่งมีบทลงโทษ การดำเนินคดี และการเยียวยาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภายหลังจาก คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบต่อการจัดทำข้อสงวนแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะได้ดำเนินการเสนอเรื่องเข้าเป็นภาคีต่ออนุสัญญาฯ ต่อองค์การสหประชาชาติต่อไป