21 ปี กระทรวงวัฒนธรรม “เสริมศักดิ์” มอบนโยบาย “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ” พร้อมสืบสาน รักษา ต่อยอด ขับเคลื่อน 10 นโยบายรองรับ THACCA ดัน 10 นโยบาย Soft Power 

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสู่ก้าวที่มั่นคงด้วยพลังสร้างสรรค์ ในโครงการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม “21 ปี กระทรวงวัฒนธรรม นำคุณค่า พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” โดยมีนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม คณะที่ปรึกษาและคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าส่วนราชการและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัด เครือข่ายทางวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องแกลอรี่ 5 ชั้น 1 หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ในโอกาสนี้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม บรรยายเรื่อง แนวทางการดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม “10 เปิดวัฒนธรรม (OPEN CULTURE) สร้างพลังแห่งอนาคต พลิก วธ.สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ” และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด และหัวหน้าองค์การมหาชน ร่วมบรรยายแนวทางการดำเนินงานของส่วนราชการและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติ ประกอบด้วย รางวัลวัฒนธรรมคุณานุสรณ์ รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น รางวัลสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดดีเด่น รางวัลกลุ่มอำนวยการพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานดีเด่น รางวัลกิจกรรมการประกวดสื่อ Infographic รณรงค์เกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตภายใต้หัวข้อ “วธ. โปร่งใส รวมใจต้านโกง” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  กล่าวว่า วันที่ 3 ตุลาคมของทุกปีถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม ในปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 21 ปี ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นองค์กรที่ดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” โดยมีพันธกิจในการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ สืบสานศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตดีงามของสังคมไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรมเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับต่างประเทศและส่งเสริมบทบาททางวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก ซึ่งก้าวต่อไปของ วธ. จะขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมตามกรอบนโยบายหลัก “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ” พร้อมสืบสาน รักษา ต่อยอด ผ่านจุดเน้นหลักๆ คือการขับเคลื่อนนโยบายรองรับ THACCA (Thailand Creative Content Agency) และการขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก โดยจะดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อจะขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมให้เกิดกับประชาชนมากที่สุด

นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้วยนโยบายให้รองรับกับ THACCA 
จะดำเนินการ โดยจะขับเคลื่อนผ่าน 10 ข้อดังนี้ 1.สำรวจ รวบรวมข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดใน 10 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวออร์ 2.สำรวจและพัฒนาแรงงานด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะสูง รองรับความต้องการของตลาด 3.บริหารจัดการพื้นที่และเครือข่ายทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และพลังทางวัฒนธรรม 4.ยกระดับงานวัฒนธรรมเดิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 5.ส่งเสริมเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆ ด้านวัฒนธรรม ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก 6.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ 7.สร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน และเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ จากการจำหน่ายสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม 8.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการต่อยอดงานวัฒนธรรม 9.อนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมงานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติให้คงคุณค่าและเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมอันดีงามของไทย 10.เปิดพื้นที่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และแสดงออก นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์

รมว.วธ. กล่าวต่ออีกว่า อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนคือ “Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก” โดยจะขับเคลื่อนผ่าน 10 ข้อดังนี้ 1.ส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power 2.ผลักดันโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก 3.ผลักดัน Bangkok เมืองแฟชั่น 4.ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 5.สร้างสังคมรักการอ่าน 6.ผลักดันมวยไทยสู่สากลในทุกมิติ 7.ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ 8.ส่งเสริมให้นำวัฒนธรรมไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เกม ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น แอนิเมชั่น เป็นต้น 9.เปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปะและดนตรี และ 10.ส่งเสริมอาชีพกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน โดยมีเป้าหมายหมายในการขับเคลื่อนนโยบายในครั้งนี้คือ 1.เด็กและเยาวชนคือต้นกล้า พ่อแม่คือเบ้าหลอม โดยสถาบันครอบครัว สถานศึกษาและศาสนสถาน 
เป็นพื้นที่ในการหล่อหลอมให้คนเป็นคนดี มีคุณธรรม รักษาธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของไทย 2.เยาวชนใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์รู้เท่าทัน Social Media ในยุคปัจจุบันและมีภูมิคุ้มกัน 3.ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม 4.มีกองทุนช่วยเหลือศิลปินให้ได้รับสวัสดิการที่ดี ไม่ถูกทอดทิ้ง เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ตลอดไป 5.ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทยสืบไป 6.ประเทศไทยมีบทบาทในเวทีโลก มรดกวัฒนธรรมไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม