รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” ตรวจเยี่ยม สปส. มอบนโยบาย พร้อมแถลงเปิดศูนย์เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

Featured Video Play Icon

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” ตรวจเยี่ยม สปส. มอบนโยบาย “หลักประกันทางสังคมเด่น มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้าง ผู้ประกันตน” พร้อมรุดแถลงเปิดศูนย์เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เตรียมเลือกตั้ง 24 ธ.ค. 66 นี้

วันที่ 29 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมและรับทราบผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ณ ห้องประชุมอำพล สิงหโกวินท์ ชั้น 6 อาคารอำนวยการ สำนักงานประกันสังคม พร้อมเยี่ยมชมศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) ณ ชั้น 1 อาคารวิทุร แสงสิงแก้ว สำนักงานประกันสังคม โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงแรงงาน เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ซึ่งในวันนี้ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งได้มาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายรวมทั้งพบปะผู้บริหาร ข้าราชการ  และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ที่มีส่วนสำคัญในการดูแลให้ความคุ้มครอง เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานกว่า 24 ล้านคนทั่วประเทศ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสามารถให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน จากการขาดรายได้เมื่อต้องประสบปัญหาจากสถานการณ์ต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในวันนี้ ผมได้เน้นย้ำถึงนโยบายในการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานประกันสังคมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้เข็มแข็ง เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น และไว้วางใจ จากลูกจ้าง ผู้ประกันตนและสังคมโดยรวม ดังนี้

1. Micro Finance ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุข เพื่อพัฒนาและยกระดับให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

2. กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน โดยต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและมีความยั่งยืน

3. Best e-Service ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ ยกระดับการให้บริการของสำนักงานประกันสังคม ผ่าน e-Service โดยการนำระบบ e-Claim มาใช้ในการให้บริการเบิก-จ่ายเงิน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน

4. สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

5. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการทางการแพทย์ ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนโดยผู้ประกันตนต้องได้รับการบริการทางด้านสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นกว่าเดิม

6. จัดทำสิทธิประโยชน์ Package Premium สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 เช่น เพิ่มสิทธิกรณีเจ็บป่วย ชดเชยรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำ ค่าตอบแทนกรณีนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยอาจยกระดับให้เท่ากับผู้ประกันตนมาตรา 39 รวมทั้งการจูงใจให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง

ในการนี้ รมว.แรงงาน นายพิพัฒน์ ได้กล่าวฝากแนวทางปฏิบัติราชการเพิ่มเติม ว่า ขอให้ดำเนินการตามนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา โดยให้ผู้บริหารผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว มีการบูรณาการการทำงาน

ที่เป็นหนึ่งเดียวกับกระทรวงแรงงาน ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เพื่อผลักดันนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงแรงงานให้เป็นผลสำเร็จ โดยยึดประโยชน์สูงสุดของลูกจ้าง ผู้ประกันตนเป็นหลัก และขอให้ติดตามการทำงานของรัฐบาลและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมต้องสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาลเพื่อให้สาธารณชน ได้มีความเชื่อมั่น และมั่นใจในระบบประกันสังคม

“ผมขอขอบคุณและให้กำลังใจในการทำงานของผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ที่มุ่งมั่นทุ่มเทเสียสละในการปฏิบัติงาน ขอให้มุ่งมั่น คิดดี ทำดี ในการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการทำงานที่สำคัญยิ่ง และผมขอยืนยันว่าจะรักษาสิทธิประโยชน์ให้พี่น้องแรงงานไทยทุกคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป”

จากนั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) ณ ชั้น 1 อาคารวิทุร แสงสิงแก้ว สำนักงานประกันสังคม พร้อมกล่าวกับสื่อมวลชนว่า กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมได้กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน เป็นคณะกรรมในคณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส กระทรวงแรงงานจึงได้ออกระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ.2564 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความคิดเห็นเพื่อกำหนดนโยบายและการบริหารงานของกองทุนประกันสังคม และวางระเบียบการรับจ่ายเงินและจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนฯ ดังนั้น วิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อรักษาผลประโยชน์อันสูงสุดของลูกจ้างผู้ประกันตน และความมั่นคงของระบบประกันสังคมไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม จึงได้มีการดำเนินการจัดการเลือกตั้งฯ ดังต่อไปนี้

** กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 16.00 น. เป็นวันเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง และที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดทั่วประเทศ **  โดยเปิดให้มีหน่วยเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งหน่วย โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประกอบด้วยผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 และนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนได้ฝ่ายละ 7 คน ในการนี้ สำนักงานประกันสังคม จะเปิดให้นายจ้าง และผู้ประกันตน ที่มีสิทธิลงทะเบียนเลือกตั้ง โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ตามคุณสมบัติ ดังนี้

ผู้ประกันตน ต้องมีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีเลือกตั้ง (เม.ย.2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง)

นายจ้าง มีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีประกาศให้มีเลือกตั้ง (เม.ย.2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง) กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลผู้จะใช้สิทธิต้องอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจ/กรณีเป็นผู้มีอำนาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 นิติบุคคลต้องเลือกใช้สิทธิได้เพียงแห่งเดียว

** สำนักงานประกันสังคม จะเปิดให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th ในวันที่ 12 – 31 ตุลาคม 2566 และเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ในวันที่ 25 – 31 ตุลาคม 2566**

รมว.แรงงาน กล่าวในโอกาสได้มาตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 อาคารวิทุร แสงสิงแก้ว สำนักงานประกันสังคม โดยศูนย์ฯ นี้ มีหน้าที่ในการกำกับ ควบคุม ติดตามผลการปฏิบัติงานของคณะทำงานจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม และอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ประสานงานระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง กับสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อนายจ้าง ผู้ประกันตน เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม อันจะส่งผลให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง