วันที่ 30 กันยายน 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และสำนักเครื่องจักรกล เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยม ฝนที่ตกหนักบริเวณพื้นที่ตอนบน ในเขตจังหวัดแพร่ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะไหลลงสู่เขตจังหวัดสุโขทัยในลำดับต่อไป กรมชลประทาน ได้จัดจราจรน้ำบริเวณประตูระบายน้ำ(ปตร.) บ้านหาดสะพานจันทร์ ด้วยการผันออกไปทาง ปตร.หกบาท เพื่อระบายลงสู่ แม่น้ำยมสายเก่าและคลองยมน่าน ส่วนด้านท้าย ปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์จะใช้คลองแยกต่างๆ แบ่งยอดน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงด้านท้ายผ่านบริเวณอำเภอเมืองสุโขทัย (สถานีวัดน้ำ Y.4)
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้น
ในส่วนของสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำชีตอนบน ปริมาณน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เขื่อนระบายน้ำทางตอนบน ตั้งแต่เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม และเขื่อนวังยาง ได้ทำการหน่วงน้ำที่จะไหลลงสู่ลำน้ำชีตอนล่าง ด้วยการเปิดบานระบายน้ำตามความเหมาะสมกับสถานการณ์น้ำ ด้านเขื่อนลำปาว ปัจจุบันแม้ว่าจะมีปริมาณน้ำเต็มอ่างฯ แต่การระบายน้ำยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย
ส่วนปริมาณน้ำในลำน้ำยัง ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ E.92 อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่ง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าปริมาณระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่งประมาณสัปดาห์หน้า ด้านเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ได้ยกบานพ้นน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูล
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำมูล เขื่อนทดน้ำในแม่น้ำมูล 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนพิมาย เขื่อนชุมพวง เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา ยังคงเปิดการระบายน้ำตามความเหมาะสม เพื่อช่วยหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบน ลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,718 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 70 เซนติเมตร แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำชี และลำน้ำสาขา กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด
ด้านสถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนบริเวณแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ เพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,300-1,500 ลบ.ม./วินาที ก่อนปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาในระยะต่อไป ทั้งนี้ กรมชลประทานจะใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน ติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่า เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยง พร้อมกับบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง และสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา