วันที่ 30 กันยายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นติดตามสถานการณ์น้ำ บริเวณสถานีวัดแม่น้ำมูล M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย พร้อมลงพื้นที่มอบของยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ พร้อมสรุปสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณพื้นตอนล่างของภาคเหนือ และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบัน (30 ก.ย. 66) ที่สถานีวัดน้ำ (แม่น้ำมูล) M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี มีระดับน้ำอยู่ที่ 112.70 ม. หรือสูงกว่าตลิ่งประมาณ 70 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้เล็กน้อย มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,718 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูล จะขึ้นสูงสุดในวันที่ (2 ต.ค. 66) ที่ระดับไม่เกิน 112.90 ม. หรือสูงกว่าตลิ่งประมาณ 90 เซนติเมตร
กรมชลประทาน ได้ใช้อาคารชลประทานทางตอนบนของแม่น้ำชี (เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง) และแม่น้ำมูล (เขื่อนราษีไศล) เพื่อหน่วงน้ำและผันเข้าระบบชลประทาน นำไปเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ส่วนตอนกลางจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ก่อนจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่แม่น้ำโขงในอัตรา 3,372.5 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าระดับแม่น้ำมูลประมาณ 66 เซนติเมตร ทำให้การระบายน้ำยังคงทำได้ดี
ด้านสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และลำเซบก ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ดอนมดแดง อ. ตระการพืชผล อ. ม่วงสามสิบ อ.วารินชำราบ และอ.เขื่องใน กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว บริเวณประตูระบายน้ำวัดเสนาวงศ์ ชุมชนท่าบ่งมั่ง อ.วารินชำราบ จำนวน 2 เครื่อง และบริเวณประตูระบายน้ำท่ากอไผ่ ชุมชนท่ากอไผ่ อ.วารินชำราบ จำนวน 2 เครื่อง รวมทั้ง ร่วมบูรณาการกับกองบิน 21 มณฑลทหารบกที่22 และชาวบ้าน เสริมแนวกระสอบทรายจำนวน 4,000 ใบ นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 100 เครื่อง ไว้ที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน ปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน และ 3 มาตรการ(เพิ่มเติม) เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงทุกจุด จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรงเกษตรและสหกรณ์