พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสั่งการให้เตรียมการรับมือ เตรียมมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2567 อย่างเร่งด่วน โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ครั้งที่ 4/2566
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุม ณ อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากการคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2567 สถานการณ์จะมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา นโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงจากการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ประชุมถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM2.5 ใน 4 ภูมิภาค โดยเน้นตามประเด็นปัญหาหลักของแต่ละพื้นที่ ทำให้ได้ประเด็นปัญหา อุปสรรคการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะมาตรการทั้งในเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่ รวมถึงร่วมกับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง พิจารณาข้อเสนอแนวทางแก้ไขหรือจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในทุกมิติทั้งในด้านระบบกลไกการทำงาน ข้อมูล งบประมาณ กฎระเบียบ และการสื่อสาร
ในการประชุม คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ได้เห็นชอบกับ “มาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567” ให้ความสำคัญกับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายแบบมุ่งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่เผาซ้ำซาก ได้แก่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ เน้นตรึงพื้นที่ จัดระเบียบควบคุมผู้ใช้ประโยชน์ ทำกติการ่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพการบัญชาการสถานการณ์ไฟป่า ตั้งจุดตรวจสกัดเฝ้าระวังการเข้าออก ลาดตระเวน ดึงประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วม สำหรับพื้นที่เกษตรเผาไหม้ พัฒนา “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ”(Traceability)และเร่งนำ“ระบบการรับรองผลผลิตทางเกษตรแบบไม่เผา” (GAP PM 2.5 Free) มาใช้ โดยเฉพาะรอบโรงไฟฟ้าชีวมวล จะมีการบริหารจัดการและเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุการเกษตร สร้างกลไกการบริหารจัดการระดับชาติและระดับจังหวัด เพื่ออำนวยการ สั่งการ ระงับเหตุ ประสานเชื่อมโยงจากระดับนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อสั่งการระดับชาติและศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดแบบถาวร ยกระดับการเจรจาเป็นระดับทวิภาคีและใช้เงื่อนไขทางการค้าเพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน สื่อสารให้ตรงจุดและต่อเนื่อง บูรณาการงบประมาณประเด็นการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนแก้ไขปัญหา โดยให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจตอบแทน โดยมีเป้าหมาย ดังนี้ 1) พื้นที่เผาไหม้ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน ลดลงร้อยละ 50 2) พื้นที่เกษตรกรรมเผาไหม้ ลดลงร้อยละ 50 3) ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงร้อยละ 40 และ 4) จำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ลดลงร้อยละ 30
นอกจากนี้ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ยังได้เห็นชอบกับการแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการและเห็นชอบกับกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และมอบหมายให้ ทส. เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป นายปิ่นสักก์ กล่าว