วันที่ 27 กันยายน 2566 เวลา 13.00 น. ณ นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว และฝายบ้านทุ่งแร่ ร่วมกับโครงการชลประทานอุดรธานี พร้อมด้วยนายสิงหา ผจงกิจการ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 นายวุฒิชัย บุญผ่อง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา นายเจษฎา ตงศิริ ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน และเจ้าหน้าที่
เนื่องจากสถานการณ์น้ำปัจจุบัน อีกทั้งประกาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ฉบับที่ 3 (40/2566) เรื่อง “หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศไทย” ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 06.00 น. ขณะที่ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม จากการคาดการฝนดังกล่าวสำนักงานชลประทานที่ 5 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นควรที่จะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมในการรับมือปริมาณน้ำฝนของประตูระบายน้ำในจุดต่าง ๆ
เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตามแผนป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ (ฤดูฝน) พ.ศ. 2566 เพื่อรองรับแผนการป้องกัน แก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยสำนักงานชลประทานที่ 5 ได้วางแผนและเตรียมความพร้อมในการเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือให้พร้อมสนับสนุนในการปฏิบัติการ ทั้งนี้โครงการชลประทานอุดรธานี ได้จัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย/เฝ้าระวัง และแนวทางป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดย ส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 5 เตรียมให้การสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำตลอดเวลาหากเกิดเหตุขึ้นในอนาคต