สอวช. เดินหน้าสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเขต EEC ดันรถบัสตระกูลไทยขยายตลาดในต่างประเทศ เตรียมพร้อมกลไกหนุนพัฒนากำลังคนและนวัตกรรม

วันที่ 28 กันยายน 2566 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) เรื่อง การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ และรถรับ-ส่งพนักงาน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี100) และมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ณ สกพอ. ชั้น 25 อาคาร กสท. โทรคมนาคม เขตบางรัก กรุงเทพฯ โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้ร่วมลงนามและกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในอนาคต

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาประเทศ ในการริเริ่มคิดและขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ หรือรถบัสอีวีของไทย ที่นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรมของเราเอง นิมิตหมายที่ดีมากในอีกมุมหนึ่งคือการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกิดเป็นรถบัสตระกูลไทย ที่เชื่อว่าในอนาคตไม่เฉพาะขายและใช้งานในประเทศ 120,000 คันเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายตลาดต่อไปในประเทศอาเซียนได้

ในส่วนของ สอวช. สนับสนุนเรื่องการทำนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงด้านการศึกษา เรามีสภานโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกระทรวงต่าง ๆ อีกกว่า 10 กระทรวง ร่วมกันทำนโยบายให้รัฐบาล และทำระบบสนับสนุนการพัฒนาทางด้านทักษะ ด้านกำลังคน และด้านนวัตกรรม ซึ่งการพัฒนาคน ที่ผ่านมาก้าวหน้าไปมาก สอวช. ได้ทำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีที่แล้วมีผู้ผ่านการฝึกอบรมกว่า 50,000 คน และส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงกว่า 5,000 คน ทั้ง 2 ส่วนนี้รัฐบาลยังให้สิทธิประโยชน์คือการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพกรได้ 250% และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจ้างงานบุคลากรสามารถนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ได้ 150%

“ในมุมการสนับสนุนทางด้านการวิจัยและนวัตกรรม เรื่องที่กำลังเข้า ครม. เร็ว ๆ นี้ จะมีการจัดระบบการสนับสนุนทางด้านวิจัยและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ สนับสนุนไปจนถึงการออกมาเป็นสินค้า และมีเม็ดเงินสนับสนุนให้เกิดเป็นนวัตกรรม รวมถึงยังสามารถสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมได้โดยตรง เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นเป้าหมายหลักของประเทศ” ดร.กิติพงค์ กล่าว

สำหรับวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและผลักดันการรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ส่งเสริมและผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายทอดองค์ความรู้และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะและรถรับ-ส่งพนักงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และอื่น ๆ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การลดปริมาณคาร์บอน และการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในเขต EEC ที่เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงการสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงฯ ข้างต้น สอวช. มีบทบาทในการสนับสนุนการเสนอแนวทางการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทในประเทศให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการเทคโนโลยีการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาให้กับผู้ประกอบการในประเทศ