วันที่ 27 กันยายน 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ตระหนักถึงความสำคัญของเครือข่าย ที่ร่วมนำวัฒนธรรมมาสร้างคนดี สร้างสังคมดี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นฐานรากในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินการคัดเลือกและมอบรางวัลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งเด็กหรือเยาวชน บุคคลรวมทั้งนิติบุคคลหรือคณะบุคคล ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่มีคุณูปการต่อการดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ เป็นที่ประจักษ์ถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเทต่อการส่งเสริม สนับสนุน รักษา สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามจนประสบความสำเร็จตามภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรม และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของชุมชน สังคมและประเทศชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เผยว่า วธ. โดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสวันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย รวม 226 รางวัล ได้แก่ รางวัลวัฒนคุณาธรประเภทเด็กหรือเยาวชน 78 ราย อาทิ
นางสาวจิรภัทร รัตนพันธ์ จังหวัดจันทบุรี นายบทละคร จันทร์เรือง กรุงเทพมหานคร นายยุคลเดช ปัจฉิม จังหวัดขอนแก่น เด็กหญิงอิซาเบลล่า เบอร์เกอร์ จังหวัดภูเก็ต , รางวัลประเภทบุคคล 76 รูป/คน อาทิ พระเทพวราจารย์ จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์ฐาปนันท์ มหิศนันท์ จังหวัดหนองคาย นายดำริห์ บรรณวิทยกิจ กรุงเทพมหานคร ประเภทนิติบุคคลหรือคณะบุคคล 71 แห่ง/คณะ อาทิ ชุมชนคุณธรรมบ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี สมาคมกลองและศิลปะการแสดงล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
นายเสริมศักดิ์ เสริมอีกว่า สำหรับปี 2566 นี้ ทาง วธ. ได้กำหนดรางวัลพิเศษ ซึ่งเป็นรางวัลกิตติมศักดิ์ โดยมีชื่อรางวัล คือ รางวัลวัฒนคุณาธรกิตติมศักดิ์ “ผู้นำพลังศรัทธาเสริมคุณค่าวัฒนธรรมไทย” มอบให้แก่นางสาวลลิษา มโนบาล (ลิซ่า) สาวไทยมากความสามารถ เกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ เติบโตที่กรุงเทพมหานคร ได้เดบิวต์เป็นศิลปินระดับโลก 1 ในสมาชิกวงแบล็กพิงก์ ประเทศเกาหลีใต้ เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อด้านวัฒนธรรมไทยในนานาชาติ มีผลงานเกี่ยวกับการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล ซึ่งทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ จนเป็นกระแสและได้รับความนิยมจากทั่วโลก และด้วยพลังศรัทธาในตัวของลิซ่า สามารถเปลี่ยนความคิดของคนไทยโดยใช้พลัง “Soft Power” นำคุณค่าของวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะด้านการเผยแพร่ภาพลักษณ์วัฒนธรรมไทยในมิติของ Soft Power ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ไปสู่สายตาชาวโลก ได้แก่ การสวมรัดเกล้ายอด สวมชุดไทยประยุกต์จากแบรนด์เสื้อผ้าของคนไทยในอัลบั้มเดี่ยว มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติหาซื้อและแต่งตัวตาม มียอดสั่งซื้ออย่างล้นหลาม ช่วยชุบชีวิตคนทำเครื่องทรงนาฏศิลป์ การบอกคิดถึง “ลูกชิ้นยืนกิน” ลูกชิ้นสูตรเด็ดน้ำพริกเผาที่เมืองไทย จนทำให้บรรดาแฟนคลับเดินทางไปตามรอย ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายลูกชิ้นยืนกินมีรายได้เพิ่มขึ้น การลงภาพสวมผ้าซิ่นเที่ยวโบราณสถาน ไหว้พระที่พระนครศรีอยุธยา ในสื่อโซเชียล ทำให้ผ้าขาดตลาด ยอดขายพุ่ง เกิดรายได้แก่ชุมชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการลงภาพอาหารและขนมไทย มีผู้ชมหลักล้านทำให้เป็นที่รู้จัก หาซื้อตาม ไม่ว่าจะเป็น โรตีสายไหม หมูกระทะ และนมหนองโพ เป็นต้น