บพข. ท็อปฟอร์ม ผนึกกำลัง 11 Accelerator Platforms 9 มหาวิทยาลัยและ 1 หน่วยงานวิจัย ร่วมลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงทางวิชาการ (Memorandum of Intent: MOI)

“หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก” หรือ “ Deep Science and Technology Accelerators” ของ “ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ” หรือ บพข. ขันอาสาเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่โลกต้องการ หรือ เทรนด์ของโลก เข้ากับความเชี่ยวชาญที่แต่ละมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานวิจัยมีอยู่ผ่านการบ่มเพาะจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ โซลูชั่น หรือบริการ และ เข้าสู่กระบวนการเร่งขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดด จนสามารถส่งผลงานออกสู่ตลาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเป็นการลงนามข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน เพื่อ ลดการทำงานที่ทับซ้อน ซึ่งจะมีการแบ่งปันและเชื่อมโยงทรัพยากร เช่น โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการ แหล่งฝึกอบรมบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญรวมไปถึงผู้ประกอบการ ให้สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม และเทคโนโลยีเชิงลึกจนได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าสูง เสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ

3 ปีที่ผ่านมา บพข. ภายใต้แผนงานกลุ่ม Deep Science and Tech Accelerator Platform ร่วมมือกับ 9 มหาวิทยาลัย และ 1 หน่วยงานวิจัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เกิดเป็น 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ 11 Accelerator Platforms ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดไทยและตลาดต่างประเทศได้จากเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ประมาณ 190 ล้านบาท ใน 3 ปี ผลงานที่เกิดขึ้น สามารถสร้างเทคโนโลยีเชิงลึก ทั้งนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ทางการแพทย์และสุขภาพ เทคโนโลยีอาหารมูลค่าสูง และอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล ไอโอที (IoT) ขั้นสูง ทำให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ มีผลิตภัณฑ์และบริการใหม่รวมทั้งมีการจดสิทธิบัตรและจดลิขสิทธิ์แล้วไม่ต่ำกว่า 100 รายการ อีกทั้งยังสามารถระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์และบริการเทคโนโลยีเชิงลึกจาก 11 Accelerator Platforms จะสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึงหนึ่งพันล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า
ล่าสุด บพข. ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงทางวิชาการ(Memorandum of Intent: MOI) ร่วมกับ 11 Accelerator Platforms เพื่อต่อยอดความร่วมมือและนำสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของการเป็น Accelerator Platforms ภายใต้โครงการดังกล่าว นายพงศ์วราวุฑฒิ หมื่นยุทธิ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเทคโนธานี ฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ตัวแทนจาก “ SUT Horizon” แพลตฟอร์มบ่มเพาะและเร่งสร้างเติบโตนวัตกรรมเชิงลึก เปิดเผยว่า SUT Horizon มุ่งพัฒนาความเข้มแข็งของงานวิจัยและสามารถช่วยทำให้บัณฑิตนักศึกษา คณาจารย์ สามารถนำงานวิจัยเหล่านี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในรูปแบบของดีพเทคสตาร์ทอัพ

ภายใต้แพลตฟอร์ม SUT Horizon มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงด้านสมาร์ทซิตี้ และอาศัยการทำงานในรูปแบบ “Venture Co-Creation” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อที่จะสามารถช่วยปั้นให้งานวิจัย หรือทีมนักศึกษา ผู้ประกอบการ ได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจและสามารถเติบโตได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศพัฒนาการสรรหา CEO เพื่อตอบโจทย์การเป็นดีพเทคสตาร์ทอัพ ที่นักวิจัยมักประสบปัญหาในการหาค้นหา CEO เพราะต้องมีความเข้าใจในเรื่องวิทยาศาสตร์เชิงลึก สามารถสื่อสารทั้งกับนักวิจัยหรือเจ้าของงานวิจัยรวมถึงนักลงทุน

“เพื่อทำให้งานวิจัยเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งในและต่างประเทศ SUT Horizon มีโปรแกรม “GOT Talent” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมัน โอมาน และไทย โดยเยอรมันสามารถนำผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดเยอรมันและยุโรปได้ง่ายขึ้น ส่วนโอมาน จะเป็นเหมือนเกตเวย์เข้าสู่ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้ SUT Horizon ยังอยู่ภายใต้อีกหนึ่งแพลตฟอร์มก็คือ ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสนครราชสีมา (Wellness corridor) ที่จะทำให้งานวิจัยต่าง ๆ สามารถที่จะทดสอบและใช้งานได้จริงภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและจังหวัดนครราชสีมา”

นอกจากนี้ Accelerator Platforms ของแต่ละหน่วยงานต่างนำเสนอผลงานและแผนงานความก้าวหน้าได้อย่างน่าสนใจ อาทิ แพลตฟอร์มเร่งการเติบโตทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลและนวัตกรรมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง หรือ Organic Tech Accelerator platform (OTAP) จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งปักหมุดที่พิษณุโลกและภาคเหนือตอนล่าง โดยตั้งใจจัดสรรเทคโนโลยีเกิดจากคนในพื้นที่ อยู่ในพื้นที่ และสร้างเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ 2 ปีที่ผ่านมามีการบ่มเพาะดีพเทคสตาร์ทอัพหลากหลายทั้งด้านไอที เครื่องมือทางวิศวกรรมและการแพทย์ วัสดุทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องของอาหารและอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้จะมุ่งเน้นที่สมุนไพร ซึ่งเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย โดยมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่มีความพร้อมทั้งเรื่องการปลูก โรงงานสารสกัดที่ได้มาตรฐาน การดูแลคุณภาพผลิตภัณฑ์ และมีโรงพยาบาลสำหรับทดสอบการใช้งาน ทำให้พร้อมที่จะผลักดันสมุนไพรไทยออกสู่ตลาดโลก

ขณะที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และเร่งใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือ MIDAS Center จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ สามารถสร้างผลงานการผลิตชุดทดสอบทางการแพทย์ ที่ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและรวดเร็ว มีการผลิตแขนเทียมเพื่อการฝึกปฏิบัติการเจาะเลือดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้ซิลิโคนที่ทดสอบแล้วว่าเหมือนแขนมนุษย์มากที่สุด โดยใช้วัสดุจากในประเทศ ลดการนำเข้า และมีต้นทุนต่ำกว่าตลาดถึง 10 เท่า

ส่วน North Bangkok Robotic Accelerator (NB RAP) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการผลักดันนวัตกรรมเชิงลึกออกสู่ตลาด และมีความร่วมมือกับภาคเอกชน นำร่องนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน

ด้าน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มุ่งเน้นการบ่มเพาะให้เกิดนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านอาหาร นำแพลตฟอร์มเร่งรัดการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมอาหารที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก สามารถบ่มเพาะให้เกิดสตาร์ทอัพได้ไม่น้อยกว่า 40 บริษัท เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงลึกด้านอาหาร อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ และระบบปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะไม่ต่ำกว่า 50 ผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดสำเร็จ อาทิ เส้นไข่ขาวไร้แป้ง ไร้ไขมันเจ้าแรกของไทย เป็นต้น

ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการพัฒนาเทคโนโลยีนำร่อง ระดับ TRL 4 ที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตที่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีระบุตำแหน่งและพฤติกรรมในอาคารเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ

ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านอุปกรณ์ดิจิทัล ระบบปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพการแพทย์ได้ในหลายโครงการ อาทิ ระบบติดตามในอุตสาหกรรมปศุสัตว์โคนม ปัญญาประดิษฐ์สำหรับงานเวชระเบียน ฯลฯ รวมทั้งการบ่มเพาะสตาร์อัพทางการแพทย์ เช่น บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม หรือ บริษัทแนบโซลูท เป็นต้น

ศูนย์เร่งการจัดการนวัตกรรม เทคโนโลยีและการวิจัย จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนารูปแบบ Holding Company โดยมี 4 โครงการนำร่อง ได้แก่ เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบมือถือด้วยเซนเซอร์หลากหลาย ชุดตรวจภูมิแพ้อย่างรวดเร็ว ชุดตรวจสอบไนโตรฟูแรนหรือยาปฏิชีวนะยับยั้งแบคทีเรียในสัตว์น้ำ และ โดมแสงธรรมชาติป้องกันรังสีตรงเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสภาพแวดล้อมที่ดีภายในอาคาร

อย่างไรก็ดีในปี 2565 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้ามาร่วมผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มการเร่งรัดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก ด้าน ดิจิทัล โรบอติกส์ และระบบอัจฉริยะ รวมไปถึงนวัตกรรมด้านสุขภาพ เกษตรอาหาร และระบบการผลิตระดับอุตสาหกรรมอีกด้วย

รศ.ดร.ธงชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ หัวใจสำคัญของการทำงานของ บพข. คือ การพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนผู้ประกอบการ SME และ Startup จนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ให้สามารถนำงานวิจัยมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ บพข. ไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงลำพังหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ตามที่วางไว้ ด้วยพลังความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ทั้งในกระทรวง อว. เอง และหน่วยงานภายนอกกระทรวง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ”