วันที่ 22 กันยายน 2566 ณ สมาคมประมงจังหวัดระยอง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนและติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
จากสถานการณ์เอลนีโญในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้ มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ เฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกมีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าปกติถึง 26% กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อรับมือภัยแล้งจากสถานการณ์เอลนีโญ 10 มาตรการ ได้แก่
1.สูบผันน้ำจากอ่างฯประแสร์-อ่างฯคลองใหญ่ – อ่างฯหนองปลาไหล เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างฯหนองปลาไหล (ปัจจุบันสูบผันน้ำรวมแล้ว 32.4 ล้าน ลบ.ม.)
2.สูบผันน้ำกลับคลองสะพาน-อ่างฯประแสร์ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างฯประแสร์ (ปัจจุบันสูบผันน้ำรวมแล้ว 3.1 ล้าน ลบ.ม.)
3.สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต -อ่างฯ บางพระ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างฯ บางพระ (ปัจจุบัน สูบผันน้ำรวมแล้ว 28.3 ล้าน ลบ.ม.)
4.สูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง -อ่างฯ บางพระ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างฯ บางพระ (ปัจจุบัน สูบผันน้ำรวมแล้ว 10.1 ล้าน ลบ.ม.)
5.สูบผันน้ำจากอ่างฯหนองปลาไหล – สถานีผลิตน้ำประปาหนองกลางดง การประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา เพื่อนำน้ำมาใช้ในพื้นที่จ.ชลบุรี สามารถทดแทนการใช้น้ำจากอ่างฯบางพระ วันละ 80,000 – 100,000 ลบ.ม.
6. เตรียมการสูบผันน้ำจากคลองวังโตนด-อ่างฯประแสร์ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างฯประแสร์
7.รณรงค์ทุกภาคส่วนในจ.ระยองและชลบุรี ใช้น้ำอย่างประหยัด
8.รณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ลดการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้งปี 66/67 เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งถัดไป
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกัก รวมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตราการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตราการรับมือฤดูฝนปี 66 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ และผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญ ให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุดตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์