กฟผ. – สถาบันอาหาร ร่วมผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารจากท้องถิ่นชุมชนรอบ กฟผ. สู่ตลาดสากล

กฟผ. เดินหน้าความร่วมมือต่อเนื่องระยะที่ 2 กับสถาบันอาหาร ต่อยอดวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารจากท้องถิ่นชุมชนรอบพื้นที่ กฟผ. สู่การยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเป้าหมายชุมชนมีรายได้เพิ่มและเติบโตอย่างยั่งยืน 

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาขีดความสามารถของกิจการชุมชน กฟผ. เพื่อสร้างความได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ชุมชนพร้อมแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร ระยะที่ 2 โดยมีนายสุชีพ มีถม ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. และนางสาวนุจรินทร์ เกตุนิล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอาหาร สถาบันอาหาร ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ.

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน พร้อมกับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ โดย กฟผ. กำหนดเป้าหมายในการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้สังคมและชุมชนรอบพื้นที่เขื่อน โรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. สามารถมีรายได้พึ่งพาตนเองได้ จากการส่งเสริมด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน และการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนที่มีร่วมกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยปี 2565 กฟผ. ได้มีแผนงานความร่วมมือกับอุตสาหกรรมมูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม นำวัตถุดิบพื้นถิ่นและวัตถุดิบเหลือใช้ มาต่อยอดด้วยนวัตกรรมอาหาร ภายใต้การผลิตอาหารปลอดภัย และปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม จนเกิดเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ “ขายได้” เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารได้ ซึ่งจากการดำเนินงานปีที่ผ่านมาได้เพิ่มยอดขายได้มากว่าร้อยละ 30 อีกทั้งช่วยลดต้นทุน ลดของเสีย และลดขยะ ตามแนวทางโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน (BCG) ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศสู่ Green Social Business ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงนับเป็นโอกาสดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารจากท้องถิ่นชุมชน สู่ตลาดสากล ให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาในระยะที่ 2 เน้นสินค้าและบริการด้านสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น อาทิ อาหารฟังก์ชัน, อาหารจากพืช Plant based food, อาหารเฉพาะบุคคล เช่น วีแกน คีโต, อาหารและเครื่องดื่ม Low sugar, Low Fat และ Low Sodium รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร และสารสกัดจากธรรมชาติ

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาสถาบันอาหาร และ กฟผ. ได้ร่วมดำเนินงานส่งเสริมให้เกิดศักยภาพของกิจการชุมชนในการพัฒนาต่อยอด และสร้างคุณค่าแก่ชุมชนบริเวณรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า เขต และเขื่อนของ กฟผ. นำมาซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน บนแนวความคิดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทาง BCG ยกระดับมาตรฐานการผลิต ความปลอดภัย คุณภาพสินค้า และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนเพื่อไปสู่การเติบโตแบบยั่งยืน โดยสถาบันอาหารมีแนวทางสร้างคุณค่า 4 ด้าน ดังนี้ TRUST คือ การสร้างความเชื่อมั่นในด้าน Food Safety และ Food Quality VALUE คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอด Supply Chain ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม POWER คือ การพัฒนาศักยภาพและสร้างองค์ความรู้แก่ชุมชนบริเวณรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า เขต และเขื่อนของ กฟผ. และผู้เกี่ยวข้อง และ SPEED คือ การส่งเสริมให้ชุมชนบริเวณรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า เขต เขื่อนของ กฟผ. และผู้สนใจเข้าถึงข้อมูลและตลาดเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว อันจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน