ทุ่งมหาราช เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของภาคกลาง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรหลายครั้ง ในยุคโบราณทุ่งมหาราชมีชื่อเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “ทะเลมหาราช” ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า พื้นที่ทุ่งมหาราชเป็นหนึ่งในพื้นที่เฉพาะของกรมพัฒนาที่ดิน ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมในพื้นที่ทุ่งมหาราช” มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำสาขาที่ราบแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำหลักแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ 213,344 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ในอำเภอบ้านแพรก อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี การใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่เป็นนาข้าวในเขตชลประทาน แต่มักประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่ตั้งอยู่บริเวณปลายน้ำ หากปีใดมีปริมาณน้ำฝนมากก็จะถูกจัดเป็นพื้นที่รับน้ำ ปีใดมีปริมาณน้ำฝนน้อยจะขาดแคลนน้ำใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร ทำให้ผลผลิตตกต่ำ และเสียหาย
จากแผนปฏิบัติราชการกรมพัฒนาที่ดิน พ.ศ.2566-2570 ในประเด็นการพัฒนาคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินให้เหมาะสมด้วยระบบบริหารจัดการเชิงรุก บูรณาการทุกภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วมในการเพิ่มผลิตภาพและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เฉพาะ แนวทางการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน คือ การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อเกษตรกรรม ระบบกระจายน้ำในการควบคุมปัญหาดินเปรี้ยว การขุดคูยกร่องสวน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง การปรับรูปแปลงนาเพื่อเสริมคันดินกั้นน้ำให้แข็งแรง สามารถต้านทานความแรงของกระแสน้ำได้ นอกจากนี้ มีการส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟู และลดความเสื่อมโทรมจากการใช้พืชตระกูลถั่ว การใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง การไถกลบตอซัง การใช้ปูนเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินในพื้นที่ดินเปรี้ยว ผลสำเร็จในการดำเนินงานในปี 2563 และ 2564 พบว่า เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.21 ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน จึงมีการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรในทุ่งมหาราช เพื่อสืบสานงานพระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 9 ซึ่งให้ความสำคัญกับพื้นที่แก้มลิง ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี องค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน อันจะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมในพื้นที่ทุ่งมหาราช และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น เกิดความสมดุล และยั่งยืน นอกจากนี้ เป็นการแก้ไขสภาพปัญหาด้านจัดการทรัพยากรดินและเตรียมการรับมือปัญหาภัยแล้ง ปี 2566 จากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งมหาราช