รัฐมนตรีเกษตรฯ ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ เตรียมมาตรการรับมืออย่างทันท่วงที สนองนโยบายรัฐบาล

Featured Video Play Icon

วันที่ 21 กันยายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศ โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดฝนตกหนักและมีพื้นที่ประสบอุทกภัยในหลายจังหวัด แต่ในบางพื้นที่ยังคงมีฝนตกต่ำกว่าปกติเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ ประกอบกับช่วงฤดูฝนของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566 นั้น นายกรัฐมนตรี(นายเศรษฐา ทวีสิน) มีความเป็นห่วงประชาชนและเกษตรกรเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ จึงได้กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยและบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่และทั่วประเทศ

“กระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นแล้วว่าสถานการณ์ดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมพร้อมมาตรการรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่น ๆ ตั้งแต่การป้องกัน การเผชิญกับสถานการณ์ และการแก้ไขฟื้นฟูตามนโยบายที่ได้มอบไว้ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนและเกษตรกรอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง และสามารถเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว

ด้าน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปรากฎการณ์เอลนีโญที่กำลังส่งผลกระทบในปัจจุบัน ทำให้มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ขณะเดียวกันในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักบางแห่ง กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด สู่ 6 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด พร้อมนำ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 (เพิ่มเติม) มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก รับทราบถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 21 ก.ย. 2566) มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม จันทบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และอ่างทอง ซึ่งกรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังในพื้นที่ เร่งดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง บริเวณชุมชนหมู่ 1 ตำบลปากแควและสะพานพระร่วง แม่น้ำยมฝั่งซ้ายในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัยด้วย

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทั้งด้านภัยแล้ง และอุทกภัย จึงขอฝากให้กรมชลประทาน บูรณาการทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด