ชป.จับมือหลายหน่วยงาน เดินหน้าช่วยเหลือภัยแล้งเมืองบุรีรัมย์

กรมชลประทาน จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่ง ไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ในขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง

นายเกียรติศักดิ์  หนูเเก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า วันที่ 21 ก.ค. 62 ได้เดินทางลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้า และการแก้ไขปัญหาการภัยแล้ง ในพื้นที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เนื่องจากภาวะฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ โดยได้สั่งการให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือทุกทางอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด ซึ่งได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ ดังนี้

มาตรการในระยะสั้น ได้ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค ทำการขุดร่องชักน้ำเข้าสู่หัวสูบประปา และสูบน้ำบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง(อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด) มายังบริเวณจุดสูบน้ำของการประปาฯให้ได้มากที่สุด พร้อมกับจัดหาแหล่งน้ำใกล้เคียง เพื่อเพิ่มต้นทุนปริมาณน้ำดิบในการผลิตประปา เช่น ผันน้ำจากเหมืองหินเก่าไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ระยะทาง 10 กิโลเมตร โดยใช้เครื่องสูบน้ำ submersible ของกรมชลประทาน จำนวน 2 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำจังหัน ไปยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศ ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) ได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 62 ส่งน้ำได้ประมาณวันละ 65,000 ลบ.ม. รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาน้ำบาดาล พิจารณาเจาะและติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกันกับน้ำผิวดิน

มาตรการในระยะปานกลาง จะร่วมกับกรมการทหารช่างดำเนินการขุดลอก เพื่อเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ-ห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และการขุดลอกเพิ่มความจุบริเวณหน้าฝายสถานีสูบน้ำลำปลายมาศ นอกจากนี้ ยังจะมีการก่อสร้างแนวผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย ไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด บรรจุอยู่ในแผนงานก่อสร้างปี     2562-2563 แล้ว

มาตรการในระยะยาว ได้ประสานกับทางการประปาส่วนภูมิภาค ให้พิจารณาตั้งสถานีผลิตน้ำประปาบริเวณอำเภอโนนดินแดง โดยใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำนางรอง เพื่อเสริมความมั่นคงด้านการประปา ส่งให้กับพื้นที่อำเภอโนนดินแดง ประคำ นางรอง และอำเภอเมืองบุรีรัมย์ด้วย

สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์อยู่ในเกณฑ์น้อย ในขณะที่ยังคงต้องส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆลดลงเรื่อยๆ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยาวนานที่สุด

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์