ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินตลาดผู้บริโภคกลุ่มสูงวัย หรือ Silver Gen เติบโตสูง เฉลี่ยปีละ 4.4% มีแนวโน้มแตะ 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของเศรษฐกิจไทยในอีก 7 ปีข้างหน้า แนะผู้ประกอบการ เตรียมรับมือ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ ชี้ “5 เทรนด์ธุรกิจมาแรง” ตอบโจทย์ Silver Gen ทั้ง อาหาร ท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และบริการการเงินเพื่อผู้สูงอายุ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์สังคมสูงวัยถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล เพราะเป็นปัจจัยที่กดดันฐานะทางการคลังของประเทศ จากภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ และด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่สูงถึง 9 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ใช้งบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และอาจเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1.3 แสนล้านบาท ในปี 2572 หรือ เพิ่มขึ้น 44% จากปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง และอาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า “เศรษฐกิจสูงวัย” หรือ “Silver Economy” ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจสูงวัยทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 26.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 880-900 ล้านล้านบาท คิดเป็น 26.6% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่มูลค่าตลาดผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงวัย หรือ Silver Gen ของไทย มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.4% และคาดว่าจะสูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า นับเป็นความท้าทายสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการเตรียมความพร้อมรับมือและคว้าโอกาสจากกลุ่ม Silver Gen ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจ เพราะมีศักยภาพด้านการเงิน พร้อมจับจ่ายใช้สอย
น.ส. วีระยา ทองเสือ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากแนวโน้มที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) โดยมีสัดส่วนประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ภายในระยะ 5-6 ปีข้างหน้า และแนวโน้มค่าใช้จ่ายของกลุ่ม Silver Gen ที่เพิ่มขึ้น จึงวิเคราะห์ว่ามี 5 เทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง คือ 1. อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2. การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งบริการนำเที่ยว และโรงแรม 3. การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน 4. ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และ 5.บริการทางการเงินเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งการให้คำปรึกษาและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ทั้ง SME และธุรกิจขนาดใหญ่ ที่จะสร้างโอกาสเติบโตจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้
สำหรับภาครัฐบาล ต้องดำเนินนโยบายที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนแรงงาน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยศึกษาตัวอย่างของรัฐบาลต่างประเทศมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ซึ่งมีแนวทางดังนี้ 1. กระตุ้นให้ประชาชนมีลูกเพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำและปรับเปลี่ยนโครงสร้างอายุประชากรในระยะยาว ผ่านการเพิ่มเงินอุดหนุนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการมีบุตร 2. ขยายอายุเกษียณและสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อให้มีกำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจต่อไป เช่น ญี่ปุ่นปรับอายุเกษียณอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 กำหนดอายุเกษียณเป็น 70 ปี และ 3. ยกระดับสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุผ่านกองทุนประกันสังคม ประกันสุขภาพ และระบบบำนาญ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนกลุ่ม Silver Gen