รองฯทวีศักดิ์ เข้ม…ติดตามความพร้อมรับมืออุทกภัยเมืองเพชร

Featured Video Play Icon

วันที่ 18 กันยายน 2566 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา  นายวิวัธน์ชัย  คงลำธาร  ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา) และเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  ลงพื้นติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

โดยมี นายนรเศรษฐ สองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14   นายพงษ์ศักดิ์ ฤทธิสมิต  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13   ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน/โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล  รองอธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า   ปัจจุบัน (18 ก.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่14 (เพชรบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร และระนอง) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 463 ล้าน ลบ.ม.(35% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 366 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี มีปริมาณรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 338 ล้าน ลบ.ม. (41% ของความจุอ่างฯรวมกัน) โดยมีน้ำใช้การได้ประมาณ 270 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติถึง 75%  กรมชลประทาน ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 29 คัน ปริมาณน้ำสะสมกว่า 9,164,620 ลิตร  เครื่องสูบน้ำรวมทั้งสิ้น 41 เครื่อง ปริมาณน้ำสะสมรวม 24,769,000 ลบ.ม.  รวมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนเพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ ด้วยการกำหนดจุดเสี่ยงอุทกภัยไว้ทั้งหมด 15 จุด   ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ  บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงที่ฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีความเสี่ยงในกรณีที่เขื่อนเพชร ระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี โดยจะควบคุมการระบายน้ำจากเขื่อนเพชรสู่แม่น้ำเพชรบุรีไม่ให้เกิน 150 ลบ.ม/วินาที พร้อมใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ช่วยในการระบายน้ำ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็ว สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด