กรมโยธาฯ บูรณาการ แก้ไขปัญหาด้านการจัดการน้ำด้วยผังภูมิสังคมฯ​ ขุดลอกแก้มลิงภูเขาทอง ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

วันที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. กรมโยธาธิการและผังเมือง บูรณาการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการน้ำด้วยผังภูมิสังคมฯ โดยการดำเนินโครงการ ขุดลอกแก้มลิงภูเขาทอง ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตามแผนงานการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นายดุษฎี เจริญลาภ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกิจกรรมและกล่าวรายงาน นายทรงชัย ชูทิพย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชุมพร นายจีรศักดิ์ แสงหอย นายอำเภอหลังสวน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ จิตอาสาพระราชทาน อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน ร่วมกิจกรรมขุดลอกแก้มลิง ปลูกต้นไม้และหญ้าแฝก เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์รอบแก้มลิงภูเขาทอง ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในการกักเก็บน้ำ ชะลอน้ำ และบริหารจัดการแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในทุกพื้นที่ ด้วยการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) ทั่วประเทศ โดยใช้กลไกการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดโครงการ/กิจกรรม

โดยน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และน้อมนำพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย มาเป็นหลักสำคัญในการบริหารจัดการน้ำชุมชน ภายใต้กลไกการทำงานในรูปแบบของการดำเนินงานโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการของกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่ 878 อำเภอ โดยใช้กลไกการบริหารราชการของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในการขับเคลื่อนกำกับดูแลร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย

นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพร ได้ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเน้นย้ำให้มีการนำแผนไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้กับพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชุมพรเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการ ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ ในหลาย ๆ พื้นที่ ทั้ง 8 อำเภอ เต็มพื้นที่จังหวัด​ โดยกำหนดแผนโครงการแก้ไขปัญหาในจังหวัดตามผังภูมิสังคมฯ ทั้งหมด 345 โครงการ

โดยในวันนี้จังหวัดชุมพรได้จัดกิจกรรมขุดลอกแก้มลิงภูเขาทอง ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และปลูกต้นไม้และหญ้าแฝก เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์รอบแก้มลิงภูเขาทอง ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำอำเภอหลังสวน​ เมื่อถึงฤดูฝนพื้นที่เป็นที่รองรับน้ำและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรกรรม การอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้กับตำบลขันเงิน ตำบลท่ามะพลา และตำบลบ้านควน แต่ปัจจุบันพื้นที่สระน้ำถ้ำภูเขาทองมีความตื้นเขิน เก็บกักน้ำได้น้อย ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยแล้งปี 2566 ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำใช้ใน การอุปโภค-บริโภค ทำให้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบหนักที่สุดในรอบหลายปี เกิดความเสียหายไม่ได้เฉพาะกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และสาธารณูปโภคของรัฐเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอำเภอหลังสวนที่เกี่ยวพันเป็นลูกโซ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะด้านการเกษตรกรรมและด้านเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัญหาดังกล่าว จึงควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

จังหวัดชุมพรจึงได้ดำเนินการขุดลอกดินบริเวณสระน้ำถ้ำภูเขาทอง เพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และชะลอน้ำในช่วงฤดูฝน ป้องกันอุทกภัย สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่การเกษตรและระบบนิเวศ เพื่อเป็นจุดบริการน้ำแก่ประชาชน ที่ประสบภัยในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นการสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาลในการกักเก็บน้ำให้กับชุมชน และเพิ่มศักยภาพของ แหล่งกักเก็บน้ำเดิมให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่โดยรอบประมาณ 100 คน เกษตรกร 500 ราย โดยวันนี้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมบูรณาการดำเนินกิจกรรม

โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชน ในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนา ประมาณ 300 คน ในการช่วยกันขุดลอกแก้มลิง ทำให้มีปริมาณเก็บกักน้ำมากขึ้นช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการอุปโภค-บริโภค สามารถกักเก็บน้ำได้ 13,700 ลูกบาศก์เมตร และร่วมกันปลูกหญ้าแฝก 3,000 ต้น เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน สามารถกักเก็บตะกอนดินกักเก็บน้ำไว้ในดิน และปลูกต้นไม้ 400 ต้น เพื่อสร้างความชุ่มชื้น รักษาระบบนิเวศถ้ำภูเขาทอง

การพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ ในระดับอำเภอหลังสวน จะส่งผลกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องจากหน่วยงาน และองค์กรในระดับพื้นที่ตำบลและอำเภอ ในการพัฒนาพื้นที่โครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามผังภูมิสังคมอย่างมีระบบเกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน องค์กรภาคเอกชน ส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค